การประกันคุณภาพกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย

โดย…ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน
พฤศจิกายน 2564

การประกันคุณภาพคืออะไร ใครทำ ทำอะไร ทำไมต้องทำ

  1. การประกันคุณภาพคืออะไร
    1.1 การประกันคุณภาพ คือ การให้ความมั่นใจกับผู้เกี่ยวข้องว่าทุกคนในสถานศึกษาทำงานได้มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษามีคุณภาพ
    1.2 การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย
    การประกันคุณภาพมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน
  2. ใครทำการประกันคุณภาพ
    ทุกคนในสถานศึกษาที่รับเงินเดือน ค่าตอบแทน หรือค่าจ้าง
  3. การประกันคุณภาพทำอะไร
    ทำงานที่ตนรับผิดชอบให้ดีที่สุด
  4. ทำไมต้องทำการประกันคุณภาพ
    4.1) เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของการทำงาน สมกับเงินที่ได้รับและเวลาที่เสียไป
    4.2) เกิดคุณภาพแก่ผลผลิตของสถานศึกษา คือ นักเรียน ผู้สำเร็จการศึกษา ฯลฯ

การประกันคุณภาพการศึกษาที่ใช้เทคนิคประเมิน


การประกันคุณภาพการศึกษาทำอย่างไร

การประกันคุณภาพเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารหรือเครื่องมือผู้บริหารที่จะทำให้ทุกคนในสถานศึกษาทำงานตามบทบาท หน้าที่ และลักษณะงาน (Job Description) อย่างเต็มความสามารถ โดยมุ่งไปที่ผลผลิตของสถานศึกษา คือ คุณภาพผู้เรียน ผู้สำเร็จการศึกษา เป็นการยกระดับคุณภาพคนซึ่งส่งผลต่อการศึกษา
การประกันคุณภาพใช้หลายเทคนิค หนึ่งในนั้น คือ เทคนิคประเมินที่เรียกว่า Assessment (มิใช่ Evaluation) Assessment เน้นที่ครูผู้ประเมิน แต่ Evaluation เน้นที่ข้อมูลจากเครื่องมือประเมิน ทั้ง Assessment และ Evaluation เกี่ยวข้องกับ (1) ประเด็นประเมิน (2) ผู้ประเมิน และ (3) เกณฑ์ตัดสิน
การประกันคุณภาพที่ใช้เทคนิค Assessment โดย Assessor ที่เก่ง มีคุณภาพ จะทำให้ผลประเมินของ Assessor เชื่อถือได้ เมื่อได้ผลประเมินมาแล้ว ผู้บริหารสถานศึกษานำผลประเมินไปพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษาของตน ตามบทบาทหน้าที่ของเขา เป็นการพัฒนาวิธีทำงานของเขาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
โดยหวังว่า ผลงานของเขาแต่ละคนจะมีคุณภาพสูงขึ้น และสุดท้ายผลงานโดยรวมของแต่ละคนสถานศึกษาจะสูงขึ้นเป็นวงจรไม่รู้จบ โดยตั้งเป้าที่เอาชนะตนเองก่อน ต่อมาจึงเอาชนะสถานศึกษาที่มีบริบทเดียวกันและต่อๆ ไปจนถึงระดับนานาชาติ

สรุป
การประกันคุณภาพของสถานศึกษาเป็นหน้าที่ของผอ.สถานศึกษาที่จะทำให้คนในสถานศึกษาทำงานมีประสิทธิภาพ เพื่อผลผลิต คือ ผู้เรียน ผู้สำเร็จการศึกษาจะมีคุณภาพ
ถ้าทุกสถานศึกษาทำการประกันคุณภาพในแนวนี้ การศึกษาของไทยจะดีขึ้น คุณภาพผู้เรียน ผู้จบจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนทัดเทียมนานาชาติ

การประกันคุณภาพไม่ใช่เรื่องของการขอเงิน ทรัพยากร วัสดุ ครุภัณฑ์ หากแต่ทุกคนทำงานให้ดีภายใต้ทรัพยากรของตน ความจำกัดของตน

สรุป
การประกันคุณภาพเป็นกระบวนการไม่รู้จบ ที่จะทำให้ผลผลิตของการศึกษาไทยมีคุณภาพสูงขึ้น โดยเน้นประสิทธิภาพ (Efficiency) การทำงานของทุกคนที่รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนและคุณภาพ (Quality) ของผลผลิตของการทำงานดังกล่าว

การยกระดับคุณภาพของ(ผล)การศึกษาไทย

คุณภาพการศึกษาหมายถึงอะไร
หมายถึง คุณภาพผู้เรียน ผู้สำเร็จการศึกษา ลักษณะและความสามารถครบ 5 ด้าน คือ

(1) ด้านสมอง ได้แก่ ความรู้ ความคิดแบบต่าง ๆ
(2) ด้านร่างกาย ได้แก่ สุขภาพอนามัย การออกกำลังกาย
(3) ด้านจิตใจ ได้แก่ วินัย จริยธรรม คุณธรรม ซื่อตรง ซื่อสัตย์ บุคลิกลักษณะ
(4) ด้านสังคม ได้แก่ อยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมแบบไทย ๆ ได้มีมารยาทฯลฯ
(5) ด้านทักษะหรือความคล่องแคล่วในการใช้อวัยวัยวะ ได้แก่
5.1 ทักษะทางสมอง (Cognitive Skills) คือ ทักษะทางภาษา (การสื่อสาร) กับคณิตศาสตร์(การแก้โจทย์ปัญหาและการคิดเลข)
5.2 ทักษะทางกาย (Physical Skills) คือ ความคล่องแคล่วในการใช้กล้ามเนื้อในการเล่นกีฬา ฯลฯ
5.3 ทักษะทางสังคม (Social Skills) คือ การพบปะกับบุคคลอื่น
5.4 ทักษะทาง IT
ทักษะต่าง ๆ เหล่านี้เกิดจากการฝึกฝนจนทำได้คล่อง (ต้องใช้เวลาฝึก)

คุณภาพคนไทยในที่ 21

คุณภาพคนไทยในศตวรรษที่ 21 เน้นที่
(1) การสื่อสารรู้เรื่อง (Communicative Skills)
(2) การมีความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
(3) การพัฒนาตัวเองให้ทำงานกับคนอื่นได้หรือร่วมงานกับคนอื่นได้ (Collaborative Skills)
(4) การพัฒนาความคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking)
(5) การพัฒนาทักษะการใช้ IT

การจะพัฒนาผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษาให้มีคุณภาพอังกล่าวต้องมาจากความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่
(1) นโยบายการศึกษาต้องชัดเจนและต่อเนื่อง
(2) แผนการศึกษาต้องสอดคล้องกับนโยบาย
(3) การจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ให้กับสถานศึกษาต้องพอเพียง
(4) การทำงานของบุคคลในสถานศึกษา ต้องให้อิสระแก่ผู้บริหารสถานศึกษาในการผู้บริหารคน
ในการบริหารงาน สร้างสำนึกให้ทุกคนทำงานเพื่อส่วนรวมสร้างคุณภาพให้เกิดแก่ผู้เรียน
(5) การตรวจสอบ (Audit) หรือการประเมิน (Assessment) ที่สอดคล้องกับบริบทสถานศึกษาทำเป็นระยะ ๆ ดูพัฒนาการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การวัด-ประเมินคุณภาพผลการศึกษา

(1) ต้องนิยามว่า “คุณภาพผลการศึกษา” ของตนคืออะไร อาจต่างกันตามบริบทของสถานศึกษา
(2) ระบุวิธีวัดคุณภาพ (เชิงปริมาณและคุณลักษณะ Qualitative กับ Quantitative)
(3) ตรวจสอบเครื่องมือวัดว่าจะให้ผลการวัดที่น่าเชื่อถือ (มี Objectivity, Reliability และ Validity)
(4) ใช้เครื่องมือวัดทุกรอบงาน เช่น ทุกสิ้นภาคการศึกษา
(5) นำผลการวัดมาเทียบกับเกณฑ์เพื่อตัดสิน (ขั้นประเมิน)
(6) เสนอผลการวัดประเมินให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุงวิธีทำงานของตน
(7) จัดทำรายงานเป็นกราฟหรือแผนภูมิให้เห็นพัฒนาการ (รายบุคคล รายกลุ่ม รายสถานศึกษา)
(8) ตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการพัฒนาที่ไม่รู้จบ

การวัด คือ การหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ด้วยวิธีการต่างๆ
การประเมิน คือ การตัดสินผลการวัด เทียบกับเกณฑ์
เกณฑ์ มีหลายระดับ เช่น เกณฑ์ขั้นต่ำ กลาง สูง
เกณฑ์มาตรฐาน คือ เกณฑ์ระดับกลางที่คนส่วนใหญ่ทำได้
มาตรฐาน (Standard) มี 2 ความหมาย

1) Content Standard
2) Performance Standard

การประเมินคุณภาพ(ผล) การศึกษาประกอบด้วยปัจจัย ดังนี้

(1) การระบุประเด็นวัด-ประเมิน บางแห่งใช้คำว่า องค์ประกอบ ด้าน ประเด็น มาตรฐาน
(Content Standard)
(2) ถ้าประเด็นองค์ประกอบค้านมาตรฐานมีขนาดใหญ่และกว้าง ก็ใช้ตัวบ่งชี้ ตัวชี้วัด (ตบช.)เพื่อระบุประเด็นย่อย ๆ ให้ชัดเจน
(3) เกณฑ์ประเมินอาจมี 2, 3, 4, 5 ระดับก็ได้ แต่ต้องชัดเจนว่า
3.1 แต่ละระดับมีความหมายว่าอะไร
3.2 จุดต่อเนื่องของแต่ละระดับ ชัดเจน จำแนกได้ เช่น
ดีเยี่ยม คือ ค่า 4.50 -5.00
ดีมาก คือ ค่า 3.50 -4.49
ดี คือ ค่า 2.50 – 349
พอใช้/ผ่าน 1.00-2.49
ตก<1.00
ตัวอย่าง จุดต่อเนื่องระหว่างดีมากกับดีเยี่ยม คือ ค่า 4.49 – 4.50 ต้องเป็น Critical Point จริง
(4) เกณฑ์ประเมินต้องมีคุณลักษณะดังนี้ คือ มีความโปร่งใส ยุติธรรม ได้มาตรฐาน ทุกคนที่รับการประเมินต้องรู้ล่วงหน้า

วิธีการยกระดับคุณภาพ

การยกระดับคุณภาพต้องมีเทคนิควิธีทางการบริหารจัดการมาช่วย นั้นคือ
ก) ต้องเน้นที่วิธีทำงานตาม Job Description ของแต่ละคน
ข) การพัฒนาต้องค่อยเป็นค่อยไป เพิ่มระดับที่ละน้อยให้สูงขึ้น
ค) ต้องใช้เวลาและวิธีวัดประเมินที่สอดคล้องกับบริบท
ง) ต้องมีกลยุทธเชิงบวกและได้รับความร่วมมืออย่างเต็มใจจากทุกฝ่าย
จ) ใช้ Positive Reinforcement ใช้คำชมมากกว่าคำตำหนิ
ฉ) เพิ่มระดับคุณภาพจากใกล้ตัวไปถึงไกลตัว เช่น กับตัวเอง กับคนอื่นในสถานศึกษาเดียวกัน
กับคนในสถานศึกษาอื่นที่มีบริบทเดียวกัน กับคนในสถานศึกษาอื่นที่ต่างบริบท กับคนในสถานศึกษา
ในประเทศ และต่างประเทศ

ตัวอย่างการพัฒนาวิธีทำงาน

(ก) เจ้าหน้าที่พิมพ์อกสาร เคยพิมพ์จดหมายได้วันละ 10 ฉบับ และมีที่ผิดโดยเฉลี่ย 5 ที่ ได้พัฒนาตัวเองให้พิมพ์ ได้วันละ 15 ฉบับ และไม่มีที่ผิดเลย
(ข) เจ้าหน้าที่การเงิน เคยให้เบิกจ่ายได้ 5 วัน หลังการวางบิล ได้พัฒนาตัวเองให้เบิกจ่ายได้เร็วขึ้นเป็น 3 วัน
(ค) ครูเคยสอนวิชาคณิตศาสตร์และพบว่า มีนักเรียนสอบตก 20% ได้พัฒนาตัวเองโดยการหาวิธีสอนที่ทำให้นักเรียนเข้าใจได้มากขึ้นมีนักเรียนตกแค่ 5%
(ง) หัวหน้าหมวดวิชาเคยจัดตารางสอนใช้เวลา 3 วัน เปลี่ยนเป็น 1 วัน
(จ) ผอ.โรงเรียนเคยจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนใช้เวลา 1 สัปดาห์ เปลี่ยนเป็น 3 วันเสร็จ

ความเชื่อมโยง

การประกันคุณภาพมีเป้าหมาย คือ การพัฒนาวิธีทำงานของคนในองค์กร ให้ทำงานให้มีประสิทธิภาพเพื่อผลงาน ผลผลิตจะได้มีคุณภาพ
ในวงจรการศึกษา การประกันคุณภาพ คือ การที่ผู้บริหารสถานศึกษานำผลประเมิน (ทุกระดับ ทุกประเภท) มาใช้ในพัฒนาคนในสถานศึกษาของตนทุกคน (ภายใต้บริบทของตน) ผลประเมินดังกล่าว ได้แก่ ผลประเมินรายบุคคล ผลประเมินกลุ่มงาน ผลประเมินจากภายนอก เช่น จากต้นสังกัด จากหน่วยงานภายนอก โดยเลือกประเมินที่เกี่ยวข้องกับงานของคนในสถานศึกษา เสนอแนะให้เขาปรับวิธีทำงาน ทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง (PDCA) เป็นระยะเวลานานพอควร แล้วจะเห็นว่าผลงานจะดีขึ้น ผลผลิตจะมีคุณภาพมากขึ้น
ถ้าสถานศึกษาทุกแห่ง ทุกระดับ ทุกประเภทในประเทศไทย ทำประกันคุณภาพตามแนวทางที่เสนอสุดท้ายผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษาจะมีคุณภาพทัดเทียมนานาชาติ เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย