เรื่อง การสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของเด็กอนุบาลเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษา: สภาพและปัญหาของครู

เรียบเรียงโดย รศ.ดร.จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ และนางสาวจิตโสภิณ โสหา
(ตุลาคม 2561)

การพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทยในปัจจุบัน เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการจัดการศึกษาปฐมวัยของผู้ปกครอง ครูและผู้บริหารสถานศึกษาทำให้เกิดปัญหาการเร่งเรียนอ่านเขียนเกินพัฒนาการเด็ก ผู้ปกครองขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการที่สำคัญตามช่วงวัยของเด็ก จึงมีความคาดหวังว่าเด็กอนุบาลต้องอ่านเขียนเป็นและบวกลบเลขได้ ส่งผลให้ส่งเสริมลูกแบบเร่งเรียนเขียนอ่านเพื่อเตรียมสอบเข้าโรงเรียนประถมศึกษา และการขาดความเข้าใจของครูเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก จึงมุ่งเน้นให้เด็กเรียนอ่านเขียนเกินวัย และเน้นการสอนให้เด็กท่องจำเนื้อหาสาระมากกว่าการฝึกทักษะ กระบวนการ ผู้บริหารสถานศึกษาขาดความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัย รวมถึงการวัดผลด้วยการทดสอบความรู้ด้านเนื้อหาสาระ และนำผลคะแนนมาใช้ในการจัดอันดับเพื่อประเมินเด็ก อีกทั้งยังมีการจัดสอบวัดความรู้ระดับชาติตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3จึงส่งผลให้โรงเรียนและผู้ปกครองเร่งให้เด็กอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับการทดสอบและการสอบแข่งขันต่างๆ ทำให้ระบบการเรียนการสอนเด็กในระดับอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้น มุ่งเน้นการท่องจำความรู้เพื่อให้เด็กสามารถอ่านเขียนและคิดคำนวณได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมพัฒนาการที่เน้นเฉพาะด้านเนื้อหาสาระ โดยขาดการพัฒนาด้านทักษะ กระบวนการ ได้แก่ การคิดแก้ปัญหา การตัดสินใจ การให้เหตุผล การคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการไม่ให้เวลากับการพัฒนาด้านคุณธรรมและคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และการดำเนินชีวิต ส่งผลให้เด็กขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ขาดทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่น และขาดทักษะความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เป็นการเสียโอกาสที่มีอยู่อย่างจำกัดในการสร้างทักษะด้านพฤติกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อคุณลักษณะ ความสำเร็จด้านการศึกษาและการทำงานในอนาคตของเด็ก (สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน, 2558)

การจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยเป็นการจัดการศึกษาที่มีความสำคัญอันเป็นพื้นฐานของการศึกษาในระดับสูงต่อไป เนื่องจากเด็กในช่วงปฐมวัยนั้นมีการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว จึงเป็นช่วงวัยที่ควรส่งเสริมพัฒนาการอย่างเต็มที่ การแบ่งช่วงอายุของเด็กปฐมวัยที่มีความแตกต่างกัน อาจทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องหรือมีช่องว่างในระหว่างที่เด็กได้รับประสบการณ์ในระดับอนุบาลและก้าวไปสู่ระดับชั้นประถมศึกษา งานวิจัยในต่างประเทศที่แสดงให้เห็นถึงปัญหา ความแตกต่างระหว่างการศึกษาปฐมวัยกับประถมศึกษา Einarsdottir (2003) ได้ทำการวิจัย พบว่า การปฏิบัติงานของครูทั้งสองระดับมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็ก โดยการศึกษาปฐมวัยจะใช้วิธีการสอนแบบยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เน้นส่งเสริมพัฒนาการ ส่วนการศึกษาในระดับประถมศึกษาเน้นการเรียนเป็นรายวิชาเป็นหลักสำคัญซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการเรียนรู้ การปรับตัวทั้งทางด้านการเรียน ด้านสังคม ด้านอารมณ์ในช่วงรอยเชื่อมต่อจากขั้น อนุบาลเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

รอยเชื่อมต่อทางการศึกษา หมายถึง ช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเด็กจากการเรียน ระดับชั้นหนึ่งไปยังระดับชั้นหนึ่ง ซึ่งมีความท้าทายในการปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบ สภาพแวดล้อมและธรรมชาติในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน และเป็นการเรียนรู้ใหม่ของครอบครัว ในบทบาท ความคาดหวัง การปฏิสัมพันธ์ และความสัมพันธ์ใหม่ๆ กับโรงเรียน ครู มีการจัดเตรียมการรับเด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียนใหม่ โดยทำงานร่วมกับเด็กและผู้ปกครอง
เพื่อช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ โดยผ่านการจัดการเรียนรู้หรือกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็ก ต้องอาศัยความร่วมมือจากครูอนุบาล ครูประถมศึกษา และครอบครัวของเด็ก ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษานั้นประสบความสำเร็จเป็นไปอย่างราบรื่น

การเข้าโรงเรียนใหม่เด็กต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เด็กบางคนสามารถปรับตัวได้ แต่บางคนก็มีปัญหาในช่วงเชื่อมต่อการศึกษาจากอนุบาลไปประถมศึกษา หากเด็กสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้แล้ว เด็กจะสามารถเรียนรู้และมีพัฒนาการก้าวหน้า ในทางตรงกันข้าม หากเด็กไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในช่วงรอยเชื่อมต่อ การปรับตัวไม่ได้ อาจกลายเป็นอุปสรรคประการสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กในระดับชั้นประถมศึกษาได้เช่นกัน เพราะเด็กมีภาวะกดดันและมีพฤติกรรมต่อต้านได้ (ยศวีร์ สายฟ้า, 2557) ดังนั้นความพร้อมในการเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาจึงมีความจำเป็นที่จะช่วยให้เด็กมีความสามารถในการเข้าสังคม และความสามารถในการเรียนรู้ เด็กจะสามารถปรับตัวและเริ่มต้นชีวิตที่ดีได้

ครูมีบทบาทสำคัญในการสร้างความร่วมมือจากบุคลากรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา Margetts (2002) ได้กล่าวถึงการสร้างรอยเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพซึ่งแสดงให้เห็นบทบาทที่สำคัญ
ของครูในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา คือ ครูช่วยให้เด็กคุ้ยเคยกับสถานการณ์ใหม่ ครูช่วยแนะนำเด็กเกี่ยวกับชีวิตในโรงเรียนใหม่ โดยเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียนให้กับเด็กผ่านกิจกรรมต่างๆ และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กก่อนเข้าโรงเรียน ครูให้ข้อมูลกับผู้ปกครองเกี่ยวกับเด็กในช่วงรอยเชื่อมต่อ เพื่อลดความกังวลของผู้ปกครองเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก และครูอนุบาลให้ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กกับครูประถมศึกษา ครูระดับชั้นอนุบาลและครูระดับชั้นประถมมีการศึกษาดูงานและทำงานร่วมกัน

จิตโสภิณ โสหา (2561) ได้เล็งเห็นความสำคัญของรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา และต้องการได้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาที่ราบรื่นจึงได้ศึกษาเกี่ยวกับสภาพและปัญหาของครูในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของเด็กอนุบาลเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษา โดยมีประเด็นศึกษา 3 ด้านได้แก่ ด้านการวางแผนการดำเนินงานการสร้างรอยเชื่อมต่อ ด้านการสร้างความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างรอยเชื่อมต่อ และด้านการส่งเสริมความพร้อมทางการเรียน โดยมีกรอบแนวคิดในการวิจัยดังนี้

กรอบแนวคิดในการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้ ตัวอย่างคือ ครูประจำชั้นของเด็กอายุ 5 ถึง 6 ปี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 323 คน ในเขตกรุงเทพมหานคร เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. สภาพของครูในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของเด็กอนุบาลเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถามโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (=3.99) เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ทั้งสามด้านอยู่ในระดับมาก (3.814.26) ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านการส่งเสริมความพร้อมทางการเรียน (=4.26) รองลงมาคือ ด้านการวางแผนการดำเนินงานการสร้างรอยเชื่อมต่อ (=3.91) และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ ด้านการสร้างความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างรอยเชื่อมต่อ (=3.81) ตามลำดับ

ด้านการวางแผนการดำเนินงานสร้างรอยเชื่อมต่อโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (=3.91) ด้านย่อยที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านการกำหนดแนวปฏิบัติและบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานอยู่ในระดับมาก (3.624.08) โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงสุดสองลําดับแรกคือ การจัดทําหลักสูตรหรือแนวปฏิบัติที่คำนึงถึงการปรับตัวทางสังคมและการปรับเนื้อหาความรู้ให้สอดคล้องกับเด็กในช่วงรอยเชื่อมต่อสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
(=4.08) การอำนวยความสะดวกในการใช้ทรัพยากรของโรงเรียน เพื่อจัดกิจกรรมที่สนับสนุนการปรับตัว
และการเตรียมความพร้อมทางการเรียนแก่เด็กอนุบาลก่อนเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (=4.06) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนต่ำสุดคือ การจัดสรรงบประมาณในโครงการหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กอนุบาลคุ้นเคยกับ
การเรียนรู้และการปรับตัวสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (=3.62) ส่วนด้านย่อยการกำกับติดตามและประเมินผล
การดำเนินงาน พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกคือ การนำผลการประเมินและข้อคิดเห็นต่างๆ
ที่ได้รับจากครูชั้นประถมศึกษาและผู้ปกครองมาปรับใช้ในการจัดกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กอนุบาล
เข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในปีถัดไป (=3.96) การกำกับให้ครูทำตามแผนงานที่โรงเรียนกำหนดใน
การช่วยเหลือการปรับตัวทางสังคมและการเรียนรู้ของเด็กอนุบาลที่กำลังจะเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
อย่างชัดเจน (=3.94) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนต่ำสุดคือ การเข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมรอยเชื่อมต่อของเด็กอนุบาลเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1 (=3.83)

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ครูอนุบาล 10 คน พบว่า ครูส่วนใหญ่จะติดตามผลพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กกับผู้ปกครองและครูชั้นประถมศึกษาด้วยการพูดคุยตามโอกาสอย่างไม่เป็นทางการ (9 คน) และบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการวางแผนการดำเนินงานการสร้างรอยเชื่อมต่อประกอบด้วยผู้บริหาร ครูอนุบาล
ครูชั้นประถมศึกษา และผู้ปกครอง ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันจึงจะทำให้การสร้างรอยเชื่อมต่อประสบความสำเร็จราบรื่น (6 คน)

ด้านการสร้างความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างรอยเชื่อมต่อโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (=3.81) ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านการติดต่อสื่อสารอยู่ในระดับมาก (3.204.18) โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกคือ การมีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายกับผู้ปกครองเกี่ยวกับปัญหาหรือข้อกังวลใจด้าน
การปรับตัวและการเรียนรู้ของเด็ก (=4.18) การให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับแนวการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนประถมศึกษา (=4.14) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนต่ำสุดคือ การเข้าไปทำกิจกรรมหรือสังเกตการเรียนการสอนของครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบและวิธีการจัดการเรียน
การสอน (=3.20) ส่วนด้านย่อยการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกคือ การพูดคุยกับเด็กอนุบาลถึงประสบการณ์ที่ดีของการใช้ชีวิตในโรงเรียนเมื่อต้องขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (=4.16) การพบปะพูดคุยกับผู้ปกครองเกี่ยวกับความกังวลและปัญหาของเด็ก ในการเข้าเรียนต่อในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (=4.06) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนต่ำสุด คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม
ในห้องเรียนเพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและลดความกังวลแก่เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่เข้าใหม่ (=3.18)

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ครูอนุบาล 10 คน พบว่า ครูมีการสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ปกครองเกี่ยวกับการเรียนในชั้นประถมศึกษาเพื่อลดความกังวล และแนะแนวทางให้ผู้ปกครองช่วยเหลือและเตรียมความพร้อมให้กับเด็กเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับโรงเรียน (10) และครูนำข้อมูลที่ได้จากการสร้างความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในสร้างรอยเชื่อมต่อมาใช้ในการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กอนุบาลในปีถัดไป ซึ่งส่วนใหญ่มาจากความต้องการของครูประถม เช่น การฝึกเขียนในสมุดมีเส้น การอ่านสะกดคำง่ายๆ การช่วยเหลือตัวเองติดกระดุมเสื้อ การผูกเชือกรองเท้า การใส่เข็มขัด (10 คน)

ด้านการส่งเสริมความพร้อมทางการเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (=4.26) ด้านย่อยที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงสุดคือ ด้านพัฒนาการและการเรียนรู้อยู่ในระดับมากที่สุด (3.994.76) โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกคือ การฝึกให้เด็กจดจำและปฏิบัติตามคำสั่ง (=4.76) การฝึกให้เด็กรู้จักดูแลของใช้ส่วนตัวและส่วนรวม (=4.75) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนต่ำสุดคือ การให้เด็กรู้จักคุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์ในการแสวงหาความรู้ (=3.99) ส่วนด้านย่อยการจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการปรับตัวพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกคือ การจัดพื้นที่ในห้องเรียนให้มีโต๊ะและเก้าอี้สำหรับฝึกการนั่งขีดเขียนอย่างถูกวิธี
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กปรับตัว เข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (=4.38) การปรับเวลาในกิจกรรมต่างๆ และเพิ่มเวลาในการขีดเขียนให้มากขึ้นโดยให้สอดคล้องกับกิจกรรมในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (=4.25) และข้อที่มีค่าเฉลี่ย คะแนนต่ำสุดคือ การจัดเวลาให้เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มาบอกเล่าประสบการณ์ หรือเรื่องราวประทับใจในชั้นเรียนแก่เด็กอนุบาล (=3.32)

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ครูอนุบาล 10 คน พบว่า ทักษะที่ครูมุ่งเน้นในการเตรียมความพร้อมของเด็กเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาคือ การช่วยเหลือตนเอง การคิดแก้ปัญหาในการทำงานร่วมกับผู้อื่น การรับผิดชอบต่อสิ่งของของตนเองและส่วนรวม และส่งเสริมความพร้อมด้านการอ่านการเขียนเบื้องต้น (10 คน) สำหรับการจัดบรรยากาศเพื่อให้เด็กได้คุ้นชินกับการเรียนในชั้นประถมศึกษา เช่น การจัดช่วงเวลาเพื่อพูดประสบการณ์ที่ดีในชั้นประถมศึกษา (10 คน) การฝึกเด็กนั่งเก้าอี้เรียน (10 คน)

2. ปัญหาของครูในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของเด็กอนุบาลเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษา
ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการวางแผนการดำเนินงานการสร้างรอยเชื่อมต่อพบว่า (1) การไม่เชื่อมต่อระหว่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย (2) การมีนโยบายที่เร่งให้เด็กอ่านออกเขียนได้ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และการวัดประเมินผล ด้านการสร้างความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างรอยเชื่อมต่อพบว่า (1) การขาดความเข้าใจในการเรียนการสอนระดับอนุบาล พัฒนาการและการเรียนรู้ของผู้บริหาร ครูประถมศึกษา และผู้ปกครอง (2) การขาดโอกาสในการสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันของครูอนุบาลและครูประถมศึกษา และด้านส่งเสริมความพร้อมทางการเรียนพบว่า (1) ความแตกต่างของเด็กและครอบครัวเป็นรายบุคคลที่ส่งผลต่อความพร้อมของเด็ก (2) ผู้ปกครองมีความคาดหวัง และความกังวลใจในการสอบเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (3) ครูประถมศึกษาปีที่ 1 มีความคาดหวังเกี่ยวกับความพร้อมด้านวิชาการที่เกินกว่าพัฒนาการของเด็ก

ความพร้อมทางการเรียน จะช่วยให้เด็กมีการเริ่มต้นชีวิตในโรงเรียนใหม่ที่ดี มีจิตใจที่ดี มีอารมณ์มั่นคงมีความสามารถในการเข้าสังคม และความสามารถในการเรียนรู้ การเตรียมความพร้อมของเด็กประกอบด้วย 3 มิติ ได้แก่ ความพร้อมของเด็ก มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก ความพร้อมของโรงเรียน มุ่งเน้นไปที่การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่สนับสนุนรอยเชื่อมต่อพร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กทุกคน และความพร้อมของครอบครัว มุ่งเน้นไปยังทัศนคติของผู้ปกครองและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก (Unicef, 2012) ความพร้อมทางการเรียนมีส่วนสำคัญในการสร้างรอยเชื่อมต่อซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวในช่วงรอยเชื่อมต่อได้ง่ายขึ้น การตระหนักถึงความสำคัญของรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากอนุบาลไปประถมศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ นโยบายทางการศึกษาทั้งสองระดับควรจะสอดคล้องต่อเนื่องกัน รวมถึงการสร้างความร่วมมือกันของสถานศึกษากับผู้ปกครอง ในการนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา