เรื่อง คุณธรรมและเจตคติสำหรับเด็กอนุบาล

คุณธรรมและเจตคติสำหรับเด็กอนุบาล

รองศาสตราจารย์พูนสุข บุณย์สวัสดิ์

              คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจและเจตคติ อันนำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง คุณธรรมและเจตคติจะเป็นปัจจัยให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลกได้อย่างมั่นคงและมีความสุข
              การปลูกฝังคุณธรรมและเจตคติให้แก่เด็กตั้งแต่วัยเยาว์จะช่วยให้เด็กพัฒนาคุณธรรมและเจตคติขึ้นในตัวเองอย่างได้ผล ครูจึงต้องแสวงหากลยุทธ์ที่เหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็ก เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีลักษณะนิสัย จริยธรรม คุณธรรม และเจตคติ ให้เกิดขึ้นในเด็กอย่างมีประสิทธิภาพที่ดีและเหมาะสม
              สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นตัวอย่างได้ดีสำหรับการพัฒนาคุณธรรมและเจตคติให้แก่เด็กอนุบาล

เป้าหมายและมาตรฐานการเรียนรู้

              เป้าหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรจุฬาลักษณ์ มีดังนี้
เป้าหมายที่ 1  ปฏิบัติตนเป็นคนดี
              มาตรฐานที่ 1  ยึดมั่นในคุณธรรม
              มาตรฐานที่ 2  มีเจตคติที่ดีต่อตนเอง ผู้อื่น และการทำงาน

มาตรฐานการเรียนรู้

              มาตรฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกฝังลักษณะนิสัยในเรื่องคุณธรรมและเจตคติ ซึ่งเป็นตัวหล่อหลอมเด็กให้เป็นคนดีของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เพื่อนำไปสู่การดำเนินชีวิต  อย่างมีความสุข มี 2 มาตรฐาน คือ ยึดมั่นในคุณธรรม และมีเจตคติที่ดีต่อตนเอง ผู้อื่น และการทำงาน
              1.   การยึดมั่นในคุณธรรม
                    การพัฒนาคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก ด้วยการทำตนเป็นแบบอย่าง และนำให้เด็กปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา 3 ประการ คือ เว้นชั่ว ทำดี และฝึกจิตให้ผ่องใส ดังนี้
                    1.1   การเว้นชั่ว หรือไม่ทำความชั่ว เพื่อป้องกันเด็กจากความชั่ว ด้วยการห้ามปรามไม่ให้ทำสิ่งที่ผิด ชี้แนะให้เห็นเหตุผลและโทษของการทำผิด ได้แก่ การรักษาศีล 5 คือ
                           1.1.1   ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทรมานสัตว์ ไม่รังแกหรือไม่ทำร้ายผู้อื่น
                           1.1.2   ไม่ลักทรัพย์ หรือไม่เอาของผู้อื่นมาเป็นของตน
                           1.1.3   ไม่แย่งชิงของรักของหวงของผู้อื่น
                           1.1.4   ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบคายด่าทอ หรือไม่พูด ใส่ร้ายผู้อื่น
                           1.1.5   ไม่ลองสูบ หรือไม่ดื่มสิ่งมึนเมา
              การเว้นชั่วด้วยการรักษาศีล 5 นี้ จะควบคุมความประพฤติของเด็กให้เป็นไปในทางดีงาม
                    1.2   การทำดี หรือทำความดี ได้แก่ การมีคุณธรรมอันเป็นพื้นฐานทางจิตใจที่นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งอำไพ สุจริตกุล ได้กล่าวว่า คุณธรรมที่ควรปลูกฝังให้แก่เด็กปฐมวัยมี 9 ประการ คือ
                           1.2.1   ความมีวินัย หมายถึง ความสามารถควบคุมกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในระเบียบและวัฒนธรรม ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ กติกา หรือข้อตกลงที่กำหนดกันไว้ และเชื่อฟังพ่อแม่ คุณครู และผู้ใหญ่ เช่น การฝึกให้เด็กยอมรับข้อตกลงและทำตามข้อตกลง การควบคุมให้กระทำกิจกรรมต่างๆ ตามเวลา เช่น กินอาหาร เล่น พักผ่อน ฟังวิทยุ หรือดูโทรทัศน์ ตื่นนอน แต่งตัวไปโรงเรียน
                           1.2.2   ความมีสติ หมายถึง ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม คือ รู้ตัวทุกขณะว่ากำลังทำอะไรอยู่ ระมัดระวังในการเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา รู้ตัวว่ากำลังยืน กำลังเดิน กำลังนั่ง กำลังนอน หรือกำลังวิ่ง ถ้าเรามีสติในการกระทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะคิด จะพูด หรือทำสิ่งใดจะเกิดสมาธิ คือ ใจสงบ ซึ่งจะเกิดผลที่ดีงามและถูกต้อง มีความเข้าใจ จำแม่น และสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
                           1.2.3   ความกตัญญู คือ การรู้จักบุญคุณของคนอื่นที่มีพระคุณแก่ตนระลึกถึงคุณความดีของท่านอยู่เสมอ และมีกตเวที คือ การตอบแทนพระคุณของผู้มีคุณนั้นด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลเท่าที่จะทำได้
                           1.2.4   ความเมตตา หมายถึง ความรัก หวังดี อยากให้ผู้อื่นมีความสุข  กรุณา หมายถึง การช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ผู้มีเมตตากรุณาจะไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนรังแกผู้ใด มีแต่จะรู้จักเห็นใจผู้อื่นและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่ผู้อื่น
                           1.2.5   ความอดทน คือ การมีจิตใจเข้มแข็ง ยอมรับสภาพที่ตนไม่พอใจได้ เช่น อดทนต่อความเหนื่อย ความหิว ความเจ็บปวดเล็กน้อย อดทนต่อความโกรธ ความไม่พอใจ ความเศร้าโศกเสียใจ อดทนต่อความอยากได้ และการรอคอย ความอดทน ทำให้เป็นคนเข้มแข็งรู้จักให้อภัยผู้อื่น ทำให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี และสามารถทำงานให้สำเร็จได้
                           1.2.6 ความซื่อสัตย์ คือ การปฏิบัติตนตรงต่อความเป็นจริง ตรงไปตรงมา ทั้งกาย วาจา ใจ ต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งต่อหน้าและลับหลัง รักษาคำมั่นสัญญา มีความยุติธรรม ไม่เอาเปรียบผู้อื่น และยอมรับผิดเมื่อทำผิด
                           1.2.7 ความประหยัด คือ การรู้จักใช้ทรัพย์สิน สิ่งของ และเวลาน้อยที่สุด แต่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากมีส่วนที่เหลือก็รักษาเพื่อเก็บออมไว้ใช้ในโอกาสอื่น ผู้ที่มีความประหยัดจะพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่และใช้ให้คุ้มค่า รู้จักประมาณในการกิน รู้จักทำของเล่นหรือของใช้จากวัสดุเหลือใช้
                           1.2.8 ความขยัน คือ ความพยายามในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่ท้อถอยเพื่อให้งานสำเร็จ กระตือรือร้นในการทำงาน ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
                           1.2.9 ไม่เห็นแก่ตัว คือ การกระทำที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตน ไม่เอาแต่ใจตัวเอง ไม่เอาเปรียบใคร ไม่เอาตัวรอดแต่ผู้เดียว รู้จักเกรงใจผู้อื่น ให้แก่ส่วนรวมโดยเสียสละความสุขและประโยชน์ของตนเพื่อสันติสุขของสังคม
                    1.3   การทำจิตใจให้ผ่องใส และสงบ
                           1.3.1 ฝึกสติให้ว่องไว
                           1.3.2 ฝึกสมาธิ ให้มีความคิดแน่วแน่ ตั้งใจจริง ทำใจให้สงบ
                           1.3.3 มีความเพียรถูกต้อง
              2.   การมีเจตคติที่ดีต่อตนเอง ผู้อื่น และการทำงาน
                     2.1   เห็นคุณค่าของตนเอง ผู้อื่น และสิ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต
                     2.2   ภาคภูมิใจในความสำเร็จ
                     2.3   เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
                     2.4   มีความเชื่อมั่นในตนเอง
                     2.5   มุ่งมั่นในการทำงานให้เสร็จ
                     2.6   ยอมรับและเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด
                     2.7   มองโลกในแง่ดี
                     2.8   ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ตามวัย

แนวทางการจัดการเรียนการสอน

              การปลูกฝังคุณธรรมให้เกิดขึ้นแก่เด็ก ครูจะต้องเป็นผู้มีความรู้ดี ต้องใช้กลวิธีการสอนที่หลากหลาย ผสมผสานกันหลายรูปแบบ ทั้งวิธีตรง และวิธีสอดแทรกอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดี นอกจากนี้ครูยังต้องเป็นผู้ปฏิบัติดี โดยทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก และปฏิบัติตนเป็นกัลยาณมิตรต่อเด็กด้วย
              การสอนคุณธรรมพระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงอุปนิสัย และพื้นฐานของตัวผู้เรียน กระบวนการสอนที่พระพุทธองค์ทรงใช้อย่างได้ผล มี 4 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่
              1.   การชี้ให้ชัด (สันทัสสนา) ได้แก่ การอธิบายหรือแสดงข้อความรู้ด้วยวิธีการต่างๆ อย่างชัดเจน เหมือนให้ผู้เรียนได้เห็นด้วยตาตนเอง
              2.   การชักชวนให้ปฏิบัติ (สมาทปนา) ได้แก่ การชักชวนให้ผู้ฟ้งเว้นสิ่งชั่วและประพฤติสิ่งดี
              3.   การเร้าใจให้กล้าหาญ (สมุตเตชนา) ได้แก่ การช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกกล้าที่จะทำความดีและละเว้นความชั่ว
              4.   การปลุกใจให้ร่าเริง (สัมปหังสนา) ได้แก่ การช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรื่นเริงบันเทิงจิต เห็นคุณค่าของการละเว้นชั่ว และทำดี (ทิศนา  แขมมณี และคณะ, 2535)
              อำไพ  สุจริตกุล ได้สรุปเป็นข้อความสั้นๆ ว่า “แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า และร่าเริง”
              หลักการสอนที่ อำไพ  สุจริตกุล (2545) ได้ปรับเข้ากับแนวคิดใหม่ในการสอน มีดังนี้
              1.   บอกให้รู้ ใช้วิธีบรรยาย แนะนำให้ค้นคว้า นำมาอภิปราย ครูต้องสอนสนุก ใช้อุปกรณ์ สื่อการสอนเต็ม
              2.   ทำให้ดู ต้องสอนด้วยตัวอย่าง โดยปฏิบัติให้ศิษย์เห็นเป็นตัวอย่าง
              3.   ให้เห็นประโยชน์จริง แสดงให้เห็นทันทีว่าทำแล้วเกิดประโยชน์ นำไปใช้ในชีวิตจริงได้

สรุป
              การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนเพื่อให้เด็กเกิดคุณธรรม ต้องให้เด็กเห็นตัวอย่างจาก  การกระทำด้วยตัวเอง  เกิดการยอมรับ  เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิด  เปลี่ยนพฤติกรรม

ตัวอย่างกิจกรรม
(สรุปจากอำไพ  สุจริตกุล และคณะ, 2531)
              การปลูกฝังคุณธรรมและเจตคติ ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการสอดแทรกไปกับการเรียนรู้เรื่องต่างๆ
          ตัวอย่างกิจกรรมให้เด็กยึดมั่นในคุณธรรม
              1.   ครูสอนให้เด็กเข้าใจและจำว่า “เว้นชั่ว ทำดี และฝึกจิตให้ผ่องใส คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า”
              2.   ครูสอนให้เด็กร้องเพลงคุณธรรมเด็กไทย และอธิบายความหมายของคุณธรรม ทั้ง 9 ประการให้เด็กเข้าใจพอสังเขป

เพลง คุณธรรมเด็กไทย

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล

เด็กดีมีวินัย  (ซ้ำ)
สติมั่น  กตัญญู  เมตตา  อดทน
ซื่อสัตย์  ประหยัด  ทุกคน  (ซ้ำ)
ขยัน  พึ่งตน  ไม่เห็นแก่ตัว

ตัวอย่างกิจกรรมปลูกฝังคุณธรรม
              
1.   ตัวอย่างกิจกรรมให้เด็กเว้นชั่วโดยการรักษาศีล 5
                     1.1   ครูเล่านิทาน หรือ เล่าเรื่องให้เด็ก ๆ ฟังเกี่ยวกับคนที่ทำผิดศีล โดยมีสื่อ ประกอบด้วย เช่น หุ่นเชิด หุ่นชัก รูปภาพ เป็นต้น หรืออาจให้เด็กๆ ช่วยกันเชิดหุ่นก็ได้ นิทานที่ควรนำมาเล่า เช่น นิทานชาดก นิทานอีสป หรือเรื่องราวต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ หรืออาจเป็นเรื่องราวที่ครูแต่งเอง ตัวอย่างนิทานและเรื่องราว เช่น
                           1)   นิทานเรื่อง “เด็กตีรังผึ้ง” มีเนื้อเรื่องย่อดังนี้
                                 มีเด็กคนหนึ่ง พอเห็นผึ้งก็อยากได้ แต่ไม่รู้วิธี จึงเอาไม้ตีรังผึ้งและเอาก้อนหินขว้างจนรังผึ้งตกลงมา ฝูงผึ้งแตกรัง บินมารุมต่อยเด็กคนนั้นจนบวมไปหมดทั้งตัว เจ็บปวดแสนสาหัส โชคดีที่แม่มาพบเข้ารีบพาไปโรงพยาบาลให้หมอรักษาได้ทัน ถ้าไม่มีใครไปพบก็จะต้องตายเพราะทนพิษของผึ้งไม่ไหว (สอนศีล ข้อ 1)
                           2)   นิทานเรื่อง “นายพรานกับพระ” มีเนื้อเรื่องย่อดังนี้
พระรูปหนึ่งเดินทางไปในป่า เห็นกวางติดแร้วอยู่ก็สงสาร จึงช่วยให้พ้นทุกข์ทรมานโดยปล่อยสัตว์ให้หนีไป เมื่อนายพรานมาเห็นเข้าก็โกรธมาก สั่งให้หมาไล่เนื้อของตนกัดพระ พระวิ่งหนีไม่ทันถูกฝูงหมากัดขาและจีวรฉีกขาด จนต้องหนีขึ้นไปบนต้นไม้ ฝูงหมาก็ตามไปตะกาย อยู่ที่โคนต้นไม้ และกระโดดจะกัดให้ถึง พระกอดกิ่งไม้ไว้จะโหนตัวไต่ขึ้นกิ่งที่อยู่สูงขึ้นไป บังเอิญ ลมพัดจีวรปลิวตกลงมาคลุมตัวนายพรานซึ่งยืนยุให้หมากัดพระ ฝูงหมาไล่เนื้อนึกว่าพระกระโดดลงมา จึงรุมกัดจนนายพรานตาย (สอนศีลข้อ 1)
                           3)   นิทานเรื่อง “สอนลูกให้เป็นโจร” มีเนื้อเรื่องย่อดังนี้
                                 มีแม่ลูกคู่หนึ่ง ค่อนข้างยากจน เพราะเป็นคนเกียจคร้าน ทุกครั้งที่ลูกแอบหยิบผลไม้หรือขนมของผู้อื่นมาบ้าน แทนที่แม่จะห้ามกลับชมว่าลูกเก่ง เมื่อลูกเติบโตขึ้นก็ลักขโมยของที่มีค่า มากขึ้นทุกที แม่ก็ไม่เคยห้ามปรามเลย จนในที่สุดลูกไปขโมยเครื่องเพชรของเศรษฐีและถูกจับได้ ขณะที่เขากำลังถูกนำไปขังคุก แม่ของเขาเดินร้องไห้ แล้วบอกกับลูกว่า “ลูกเอ๋ย แม่เองควรจะถูกลงโทษแทนลูก เพราะแม่ เป็นคนสอนลูกให้เป็นโจร” (สอนศีลข้อ 2)
                                 เมื่อเล่านิทานหรือเล่าเรื่องจบแล้ว ครูอาจให้เด็กช่วยกันสรุปการกระทำของบุคคล ในเรื่อง ให้แสดงความรู้สึก ความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องที่ได้ฟัง ข้อคิดที่ได้ และให้เด็กๆ คิดว่าการปฏิบัติตัวที่ดีควรทำอย่างไร และอาจให้เด็กแสดงบทบาทสมมุติ หรือแสดงละครจากเรื่องราวที่ได้ฟัง
                    1.2   ครูสนทนาซักถามถึงประสบการณ์ของเด็กเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ เช่น
                           1)   คนที่รังแกสัตว์ และผลที่ได้รับ (สอนศีลข้อ 1)
                           2)   การแอบลักของผู้อื่น ตามที่เด็กเคยรู้มา (สอนศีลข้อ 2)
                           3)   คนกินเหล้าเมาแล้วทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกายกัน (สอนศีลข้อ 5)
                                 ต่อจากนั้นจึงให้เด็กอภิปราย แสดงความคิดเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนั้นดีหรือไม่ เพราะเหตุใด นักเรียนควรทำหรือไม่ และวิธีป้องกันไม่ให้ตนเองกระทำความชั่วนั้น
                    1.3   ครูสร้างสถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการผิดศีล เช่น ครูบอกให้นักเรียนนำตุ๊กตาหรือ    ของเล่นที่นักเรียนรักมากมาจากบ้านคนละ 1 ชิ้น แล้วครูนัดหมายกับเด็กประมาณ 3-4 คน ที่พอมีความเข้าใจดีว่าครูจะให้เล่นละครเป็นตัวร้าย แย่งชิงของผู้อื่น ขณะที่เด็กๆ กำลังเล่นตุ๊กตาหรือของเล่นกับเพื่อนเป็นกลุ่มๆ อยู่ เด็กโตที่นัดหมายกันไว้ก็จะเข้าไปแย่งของเล่นที่เด็กแต่ละกลุ่ม กำลังเล่นกันอยู่ สถานการณ์ต่อมาก็คือเกิดการฟ้องร้องระเบ็งเซ็งแซ่ ครูเรียกเด็กที่ถูกแย่งของเล่นมาปลอบ
                           สถานการณ์นี้ครูถือโอกาสสอนถึงผลของการแย่งชิงของรักของหวงของผู้อื่น (สอนศีลข้อ 3)
                           ถ้าเป็นสถานการณ์เกี่ยวกับการผิดศีลข้อ 2 ครูก็สอนให้เด็กๆ รู้จักรักษาข้าวของเครื่องใช้และเก็บไว้ให้ดีเมื่อของนั้นหายไปจากที่จะได้รู้ว่าของหายและรีบหาให้พบ เช่น เล่นของเล่นแล้วต้องเก็บเข้าที่เดิม วันหน้าจะมาเล่นอีกก็จะได้หาเจอ
                    1.4   ครูสอนให้เด็กร้องเพลง และทำท่าประกอบ เช่น


เพลง งูไล่ปลา 
(สอนศีลข้อ 1)

เนื้อร้องและทำนอง: ผศ.กิติยวดี  บุญซื่อ

          ดูซิดู  ดูงูไล่ปลา
งูนี่หนา  เป็นอันธพาล
เรารักกัน  ไม่ควรแกล้งกัน
เพื่อนอย่างงู  เป็นอันธพาล
ดูซิดู  ดูปลาหนีงู
งูนี่หนา  นิสัยไม่ดี
เราเพื่อนกันไม่เป็นอย่างงู
เพื่อนอย่างงู  นิสัยไม่ดี


เพลง ไม่เอาของใคร
 (สอนศีลข้อ 2)

เนื้อร้องและทำนอง: อ.สุจินต์  ชวนชื่น

          อันนี้  อันนั้น  อันโน้น
อันไหน  ไม่ใช่ของเรา
        อันนี้  อันนั้น  อันโน้น
อันไหนเป็นของเรา
อันโน้น  อันนั้น  อันนี้
เราไม่เอามาครอบครอง
อันโน้น  อันนั้น  อันนี้
เราจะเก็บเอาไว้ให้ดี


เพลง ไม่อยากได้
 (สอนศีลข้อ 2, 3)

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล

ไม่อยากได้  ไม่อยากได้
สิ่งใดได้มาโดยผิด
จะไม่แอบลักของใคร
ของใครใคร ไม่อยากได้เลย (ซ้ำ)
ฉันมาได้คิดคืนให้เขาไป
เมื่อเติบใหญ่ฉันจะเป็นคนดี


เพลง ใจเขาใจเรา
 (สอนศีลข้อ 2, 3)

เนื้อร้องและทำนอง: อ.สงวนศรี  บุญยามระ

ของ  ของใคร  ใครก็รัก
ของ  ของเธอ  หรือเธอจะให้
อย่าชิง  ฉก  ลัก  ของรักใครใคร
โปรดยั้ง  ชั่งใจ  คืนเขาไปแหละดี

พลง ทวงของรัก (สอนศีลข้อ 2, 3)

เนื้อร้องและทำนอง: อ.สงวนศรี  บุญยามระ

           ยั้งใจให้ดี  ของนี้ของใคร
ถ้าเป็นของเธอ  คงไม่ยอมเช่นกัน
 ฉันรักเพียงใด  ของคืนให้ฉัน
ขอคืนโดยพลัน  ความสัมพันธ์ไม่คลาย

เพลง พูดคำจริง
 (สอนศีลข้อ 4)

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล

           พูดจริง  คนเชื่อถือ
พูดปด  เลวหนักหนา
 เพราะคำพูดคือ  คำมั่นสัญญา
มาเถิดมา  พูดแต่คำจริง

เพลง นักเรียนไม่พูดร้าย
 (สอนศีลข้อ 4)

เนื้อร้อง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล ทำนอง: เพลงแม่สะเรียง

           นักเรียนจ๋า  อย่าพูดจาส่อเสียด
เว้นคำเพ้อเจ้อ  หยาบคาย
จงอย่าพูดร้าย  เราต้องพูดคำจริง
เลือกแต่คำไพเราะ
ไม่พูดหยามเหยียด  ให้เพื่อนได้อาย
เย้ยเยาะถางถากทั้งหลาย
ได้ประโยชน์ยิ่ง  ชวนฟัง
ใช้คำพูดเหมาะและตรงตามจริง (ซ้ำ)


เพลง ไม่พูดร้าย
 (สอนศีลข้อ 4)

เนื้อร้อง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล  ทำนอง: เพลงหม่องเลยะ

(สร้อย)

เราจะไม่หลอกล่อใคร
คำที่เราใช้สัญญา
(สร้อย)

หม่องเล  หม่องเล  หม่องเลยะ
หม่องเล  หม่องเล  หม่องเลยะ (ซ้ำ)
จะไม่ใส่ร้ายใคร      จะพูดความจริงจ้ะ
จะไม่บิดพริ้วพา      ให้เสียวาจาจ้ะ

เพลง สิ่งเสพติด (สอนศีลข้อ 5)

เนื้อร้อง: วิรัช  ธรรมแสง    ทำนอง: เพลง Jingle Bell

           เฮโรอีน  เฮโรอีน
เสพเข้าไป  มันจะพา
          ทั้งสุรา  ทั้งเหล้ายา
ทั้งบุหรี่  ที่นิยม
          กระดูกที่มันเดินได้
ขาดเสพเหมือนคนสิ้นคิด
          เราคนไทย  เป็นคนไทย
ยาเสพติด  เป็นของชั่ว
 รวมทั้งฝิ่น  กัญชา
ให้ร่างกายทรุดโทรม
ที่เห็นดื่มครามโครม
ล้วนเป็นยาเสพติด
นั่นแหละใช้ยาเสพติด
ชีวิตไม่เกรงไม่กลัว
อย่าหลงใฝ่เมามัว
ควรหลีกตัวให้ไกล


              
2.   
ตัวอย่างกิจกรรมให้เด็กทำดี
เพื่อปลูกฝังอุปนิสัยให้เด็กมี คุณธรรม 9 ประการ คือ มีวินัย มีสติ กตัญญู เมตตา อดทน ซื่อสัตย์ ประหยัด ขยัน และไม่เห็นแก่ตัว โดยให้เด็กฝึกร้องเพลง “คุณธรรมเด็กไทย” นอกจากนี้กิจกรรมที่สำคัญ คือ ครูแสดงให้เด็กเห็นเป็นแบบอย่างที่ดีและมีกิจกรรมตัวอย่างฝึกคุณธรรมดังนี้
                    2.1   ตัวอย่างกิจกรรมฝึกความมีวินัย
                            1)   ครูเล่านิทานเรื่อง “ลูกไก่ดื้อ” ซึ่งมีเนื้อหาเรื่องย่อ ดังนี้
                                  แม่ไก่พาลูกไปคุ้ยเขี่ยหาอาหารและสอนลูกๆ ว่าอย่าไปใกล้ลำธารจะตกน้ำตาย เพราะไก่ว่ายน้ำไม่เป็น ลูกไก่ตัวน้องอยากเห็นน้ำใสดูเป็ดลอยน้ำ จึงไปริมฝั่ง ลูกเป็ดร้องชวนให้มา ว่ายน้ำด้วยกัน ลูกไก่นึกสนุก ลืมคำสั่งของแม่ ก็กระโดดลงน้ำ ลูกไก่ว่ายน้ำไม่เป็นจึงจมลงไป ลูกเป็ดมาช่วย แต่ลูกไก่ขึ้นฝั่งไม่ได้ ลูกไก่ตัวพี่รีบไปบอกแม่ แม่ไก่จึงร้องเรียกแม่เป็ดช่วยแม่เป็ดใช้ปากดุนลูกไก่ไปที่ น้ำตื้น จึงขึ้นตลิ่งได้ ลูกไก่เกือบตาย เพราะไม่เชื่อฟังแม่ แต่โชคดีรอดตายเพราะลูกเป็ดและแม่เป็ดช่วย แม่ไก่และลูกไก่ขอบคุณแม่เป็ดและลูกเป็ดที่ช่วยชีวิตลูกไก่ไว้ได้
                                 หลังจากเด็กๆ ฟังนิทานจบแล้ว ครูนำให้เด็กๆ สรุปข้อคิดเตือนใจว่าลูกไก่เกือบตาย เพราะไม่เชื่อฟัง คนที่เชื่อฟัง เรียกว่าเป็นคนมีวินัย ต่อจากนั้นอาจให้เด็กๆ ช่วยกันเชิดหุ่น มีตัวหุ่น 5 ตัว คือ ลูกไก่ตัวน้อง ลูกไก่ตัวพี่ แม่ไก่ ลูกเป็ด และแม่เป็ด โดยให้เด็กๆ พูดตามเรื่องลูกไก่ดื้อที่ครูเล่าให้ฟัง หรือให้เด็กสวมมงกุฎสัตว์ 5 ตัว แล้วแสดงบทบาทสมมุติ
                           2)   ครูให้เด็กทำกิจกรรมรถไฟ
                                 โดยให้ดูภาพรถไฟ และสอนให้ร้องเพลง “รถไฟ วู้น วู้น” แล้วสนทนาถึงการเดินทางโดยรถไฟ และเล่นต่อขบวนรถไฟ โดยให้เด็กจับเอวต่อกันเดิน พร้อมกับร้องเพลงรถไฟ วู้น วู้น

เพลง รถไฟ วู้น วู้น

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล

          ฉึกฉัก  ฉึกฉัก  ฉึกฉัก
พวกเรารีบขึ้นรถไฟ (ซ้ำ)
ฉึกฉัก  ฉึกฉัก  วู้น  วู้น (ซ้ำ)
เสียงเครื่องจักรดังมาแต่ไกล
รถไฟแล่นไป  เสียงดังฉึกฉัก (ซ้ำ)


                                 
ต่อจากนั้นให้เล่นสมมุติว่า จะต้องไปซื้อตั๋วขึ้น รถไฟ ต้องเข้าคิวกันซื้อ ใครมาก่อนอยู่ข้างหน้า ใครมาช้าต้องต่อแถว ห้ามแซงคิว  คนขายตั๋วรถไฟจะไม่ขายตั๋วให้คนแซงคิว เมื่อทุกคน ให้ตั๋วรถไฟแล้ว ให้จับเอวเล่นรถไฟอีกครั้ง แล่นไปทั่วห้องพร้อมกับร้องเพลงรถไฟไปด้วย ครูนำ ให้สรุปว่า การรอเข้าแถวเรียงลำดับ ไม่แย่งกัน ไม่แซงคิวเป็นผลดีอย่างไร เช่น ทำให้เราเป็นคนดี มีวินัย รักษาระเบียบ เป็นคนน่ารัก เป็นที่รักของคุณครู เพื่อนๆ พ่อแม่และผู้อื่น และให้เด็กช่วยกันคิดว่า เด็กๆ ต้องเข้าคิวหรือเข้าแถวเรียงลำดับเมื่อไรบ้าง เช่น รับถาดอาหาร รับของแจกครู สอนให้เด็กร้องเพลง “มีวินัยไม่แซงคิว”

เพลง มีวินัยไม่แซงคิว

เนื้อร้อง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล    ทำนอง: พม่ากลองยาว

                             ยิ่งแย่งยิ่งช้า  อย่ามาแซงคิว
ยิ่งแทรกยิ่งช้า  อย่ามาแซงคิว
คนมีวินัย  ไม่แซงคิว
คนมีวินัย  ไม่น่าชัง
*  มาก่อนอยู่หน้า  คนมาหลัง
ไม่ทำน่าชัง  อย่าแซงคิว
คิวนี้คนดี  คอยได้  *
หากใครแซงคิว  ไม่เรียงลำดับ
ไม่ยอมรับ  ถอยไป
โจ๊ะพรึ่ม  โจ๊ะพรึ่ม
โจ๊ะพรึ่ม  พรึ่มโจ๊ะ  พรึ่ม  พรึ่ม
(ซ้ำ *)


                          
3)   ครูฝึกให้ร้องเพลง และให้ท่าทางประกอบ เช่น

เพลง ให้สัญญา

เนื้อร้อง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล    ทำนอง: เพลงบอกมาเลย

                               บอกมาเลย  อย่าเสียวาจา  จะให้สัญญาก็บอกไป
บอกมาเลย  ทำได้หรือไร  เฉยทำไม  บอกเลย

เพลง สัญญาปวารณา

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล

                                 ฉัน (ผม, หนู)  สัญญา  ว่าจะทำดังนี้คือ
                  จะเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ (คุณครู)
                  ถ้าฉัน (ผม, หนู)  ผิดสัญญา  จงเมตตาเตือนเทอญ

เพลง มีวินัย

เนื้อร้องและทำนอง: เยาวชนค่ายศิลปะเด็กพิเศษ
(Art for All) รุ่น 1 ปี 2542

         ลัลลาๆ ลัลลัลลา
เราเป็นเด็กต้องมีวินัย (ซ้ำ)
รู้จักรับผิดชอบชั่วดี (ซ้ำ)
กติกาที่กำหนดกัน (ซ้ำ)
ลัลลัลลาๆ ๆ ลัลลา
อยู่ที่ใดใดต้องทำตามหน้าที่
ระเบียบวินัยนี้เป็นสิ่งสำคัญ
กฎเกณฑ์ทุกอันต้องทำให้ได้เอย

เพลง เก่งตามกติกา

เนื้อร้อง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล    ทำนอง: เพลง ทีวีเขาบอก

ครู:
นักเรียน:
ครู:
นักเรียน:
ครู:
นักเรียน:
ครู:
นักเรียน:
ครู:
นักเรียน:
ครู:
นักเรียน:
ตั้งใจ  บอกว่าให้ตั้งใจ
จะทำดีได้ (ยัง) ไง
ต้องตามที่ครูเคยว่า
วินัย  ต้องฟังและเชื่อตาม
จะมีมารยาทงาม  ต้องทำตามกติกา
ครูดี  สอนดี  สอนเก่ง
นักเรียนก็เคร่ง  เรียนเก่งตามตำรา
กิจกรรมช่วยนำปัญญา  พัฒนาตนได้จิตใจยิ่งแสนดี
วินัยพร้อมใจรักษาระเบียบ
ฝึกให้เรียบ  ให้งามทุกที่
อยากเป็นเด็กดี  ต้องเคารพกฎเกณฑ์
อยากเป็นผู้นำ  ต้องทำตามกติกา


                         
4)   ครูให้จับไม้สั้นไม้ยาว เพื่อฝึกให้เด็กยอมรับผลการจับไม้สั้นหรือไม้ยาวของตัวเอง ในการเลือกตัวแสดงหรือผลัดกันออกมาเสนอผลงานของกลุ่ม เป็นการฝึกให้มีระเบียบวินัยและยอมรับข้อตกลงของส่วนรวม
                                 2.2   ตัวอย่างกิจกรรมฝึกความมีสติ
                                         1)   ครูร้องเพลง “นิ้วมือ” พร้อมกับให้เด็กๆ กางมือซ้ายออก แล้วใช้นิ้วชี้มือขวา ชี้นิ้วของมือซ้ายแต่ละนิ้วให้ถูกต้องตามเสียงเพลง เพื่อฝึกสติอย่างง่ายๆ ในการใช้มือสัมพันธ์กับความคิดและการพูด ถ้าเด็กๆ ชี้ได้ถูกแสดงว่ามีสติดี

เพลง นิ้วมือ

                             โป้ง  ชี้  กลาง  นาง  ก้อย
ก้อย  นาง  กลาง  ชี้  โป้ง  นาง  ก้อย
นาง  ก้อย  ชี้  กลาง  ก้อย  นาง
                   ก้อย  นาง  ชี้  กลาง  ก้อย

                                              ครูอธิบายว่า คนที่ชี้ได้ถูกต้องไม่พลาด เป็นคนมีสติดี ผู้ที่ชี้พลาดควรฝึกใหม่ พยายามเอาใจมาจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นๆ
                                         2)   ครูให้เด็กร้องเพลง “สติ” เพื่อให้เข้าใจความหมายของสติ

เพลง สติ

เนื้อร้องและทำนอง: เยาวชนค่ายศิลปะเด็กพิเศษ
(Art for All) รุ่น 1 ปี 2542

(สร้อย)  * สติ  คือ  กำหนดรู้ (ซ้ำ)
              จะคิด  จะอ่าน  จะเขียน (ซ้ำ)
(สร้อย)
              จะทำการงานสิ่งใด (ซ้ำ)
(สร้อย)
              หากคิดจะทำสิ่งใด (ซ้ำ)
(สร้อย)

ว่าจะทำอะไรอยู่นั้นมีสติ *
แม้แต่เรื่องเรียนต้องมีสติ

จะสำเร็จได้ต้องมีสติ

อย่ายอมให้ใครเขามาตำหนิ

                                         3)   ครูให้เด็กร้องเพลงตบแผละฝึกสติ แล้วเล่นเกมตบแผละ เพื่อฝึกสติให้ทันและสัมพันธ์กับกาย – วาจา และใจ โดยให้เด็กจับคู่กันนั่งขัดสมาธิหันหน้าเข้าหากัน ตบมือ ตบตัก และแตะมือกันตามเสียงเพลงที่ร้อง 4 จังหวะ ดังนี้
                                                จังหวะ 1   ตบมือตนเอง   (ตบ)
                                                จังหวะ 2   ตบตักตนเอง   (ตบ)
                                                จังหวะ 3   ตบมือตนเอง   (ตบ)
                                                จังหวะ 4   แบมือไปแตะมือเพื่อน   (แตะ)

เพลง ตบแผละฝึกสติ

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล

                   ตบแผละ  ตบแผละ  ตบแผละ  …..  …..
(ตบ) (ตัก)  (ตบ) (แตะ)  (ตบ) (ตัก)  (ตบ) (แตะ)
ปาก  ใจ  ตรงกัน  นั่นแหละ  …..  ….. …..
(ตบ) (ตัก)  (ตบ) (แตะ)  (ตบ) (ตัก)  (ตบ)  (แตะ)  (ตบ)
เรา  มา  ลอง  ฝึก  กัน
(ตัก) (ตบ)  (แตะ) (ตบ)  (ตัก)
จิต – กาย สัมพันธ์ กับ ปาก ตบแผละ  …..  …..
                   (ตบ) (แตะ)  (ตบ) (ตัก)  (ตบ) (แตะ)  (ตบ) (ตัก)  (ตบ) (แตะ)

                                         4)   ครูให้เด็กเล่นเกม “โป้ง โอ๊ย พูดคำสุภาพ”
                                               วิธีเล่น
                                                4.1)   สอนให้เด็กร้องเพลง “สวัสดี  ขอโทษ  ขอบคุณ” พร้อมทำท่าประกอบ

เพลง สวัสดี

เนื้อร้องและทำนอง: เยาวชนค่ายศิลปะเด็กพิเศษ
(Art for All) รุ่น 1 ปี 2542

                   (สร้อย)  สวัสดี  ขอโทษ  ขอบคุณ
ขอบคุณ  ขอโทษ  สวัสดี (ซ้ำ)
                   สวัสดี  ค่ะ/ครับ  ขอบโทษ ค่ะ/ครับ  ขอบคุณ ค่ะ/ครับ

                                               4.2)   แบ่งเด็กเป็นกลุ่มๆ ละ 3 คน แล้วให้หมายเลขกลุ่ม หรือให้เด็กตั้งชื่อ
                                               4.3)   ครูและเด็กช่วยกันร้องเพลง “สวัสดี  ขอโทษ  ขอบคุณ” พอเพลงจบครูทำท่ายิงไปที่เด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (กลุ่มที่ไม่ถูกยิงจะร้อง “โอ๊ย” พร้อมกัน) เด็กกลุ่มที่ถูกยิง ต้องลุกขึ้นยืน แล้วให้สมาชิกในกลุ่มพูดคำสุภาพคำใดคำหนึ่งในเพลง จนครบ 3 คน แล้วจึงร้องเพลงพร้อมกัน แล้วเลือกยิงเด็กกลุ่มใหม่ โดยผู้ยิงจะเป็นครูหรือเด็กกลุ่มที่ถูกยิงล่าสุดเป็นผู้เลือก
                                2.3   ตัวอย่างกิจกรรมฝึกความกตัญญู
                                        1)   ครูฝึกให้เด็กร้องเพลง “กตัญญู” แล้วสรุปอธิบายเนื้อหาของเพลง

เพลง กตัญญู

เนื้อร้องและทำนอง: เยาวชนค่ายศิลปะเด็กพิเศษ
(Art for All) รุ่น 1 ปี 2542

          กตัญญู  รู้คุณ  คุณพ่อ
กตัญญู  รู้บุญคุณครู
นี้คือ คติประจำใจเรา (ซ้ำ)
กตัญญู  รู้คุณ  คุณแม่
และ ผู้มีพระคุณ


2)   ครูสอนเด็กร้องเพลง “เด็กไทยกตัญญู”

เพลง เด็กไทยกตัญญู

เนื้อร้อง: ศ.อำไพ สุจริตกุล ทำนอง: เพลงอ่อนซ้อม

              มาเร็วไว              เยาวชนไทย              นิ่งทำไมอยู่
รักพ่อแม่                           รักคุณครู                  รักผู้มีคุณ
เคารพท่าน                        ช่วยงานท่าน             เพราะท่านการุน
หากลืมคุณ                       ผู้คน                         ต้องเสียใจ
              
หมั่นระลึกคุณท่าน                               คนดีทำดีต่อไป
ตอบแทนคุณผู้ใด                                              ทำไปด้วยใจกตัญญู

                                        3)   ครูฝึกให้เด็กทำกิจกรรมบูชาคุณพ่อแม่ ครูอาจารย์ต่อจากบูชาพระเสมอ
                                        4)   ครูแนะนำให้เด็กหาดอกไม้ไปให้ญาติผู้ใหญ่ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ในวันสำคัญของท่าน เช่น วันคล้ายวันเกิด และในวันสงกรานต์ อาจพาเด็กไปรดน้ำขอพรท่าน
                                        5)   โรงเรียนอาจจัดกิจกรรมหน้าเสาธง ในวันคล้ายวันเกิดครูใหญ่หรือครูอื่นๆ โดยเชิญครูท่านนั้นยืนที่หน้าเสาธงหลังเคารพธงชาติ แล้วให้ตัวแทนนักเรียนชายหญิงถือช่อดอกไม้  ไปให้ครูในขณะที่เด็กทุกคนร้องเพลงอวยพร เช่น

เพลง อวยพรวันเกิดคุณครู

              สุขสันต์วันเกิดเถิดคุณครู
ชีวิตจงอยู่ชื่นชูยั่งยืนนาน
ครูผู้เสียสละ
วันนี้วันเกิด พรล้ำเลิศใดใด
ครูให้ความรู้แก่หนูจนเชี่ยวชาญ
ให้สุขสำราญผ่านพ้นภัย
ครูคือพระแห่งดวงใจ
ขอมอบจากดวงใจแด่คุณครู


              
6)   โรงเรียนจัดกิจกรรมวันกตัญญู อาจเป็นวันก่อนปิดภาคเรียน ให้เด็กทำความดีตั้งแต่ตื่นเช้า กราบบูชาคุณและรับใช้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เมื่อมาถึงโรงเรียนก็มากราบครูทุกคน ช่วยกันทำความสะอาดทั่วโรงเรียน สนามหญ้า รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์ ช่วยเหลืองานของพี่ๆ หรืองานในห้องประชุม โรงอาหาร ในสวน ในห้องเรียน พร้อมทั้งเปิดเพลง หรือให้ร้องเพลงอย่างเบิกบานตลอดเวลาที่ทำงานให้แก่โรงเรียน

เพลง ทำงานสนุก

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล

                             เราทำงาน  หัวเราะชื่นบาน  ทำงานสนุก
ยิ่งทำยิ่งมีความสุข  ไม่เคยเป็นทุกข์  สนุกกับงาน

                               2.4   ตัวอย่างกิจกรรมฝึกความมีเมตตากรุณา
                                       1)   ครูให้ทำกิจกรรม “สัตว์เลี้ยงแสนรัก” โดยครูให้เด็กร้องเพลงเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง แล้วสนนากับเด็กถึงสัตว์เลี้ยงที่บ้านของเด็กๆ และให้ผลัดกันเล่าว่าสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นเป็นอย่างไร  แล้วให้เด็กๆ ช่วยกันสรุปว่า สัตว์เลี้ยงเหล่านั้นมีประโยชน์อย่างไร ต่อจากนั้นซักถามให้เด็กสรุปว่า เมื่อสัตว์เลี้ยงเหล่านี้มีประโยชน์ต่อเรา เราควรดูแลให้ความสุขแก่สัตว์เหล่านี้อย่างไรบ้าง การแสดงความรักที่เรามีต่อสัตว์เลี้ยงควรทำอย่างไร เช่น อุ้ม กอด ให้อาหาร ไม่รังแกสัตว์ให้เดือดร้อนและรักษาพยาบาลเมื่อสัตว์เจ็บป่วย
              ตัวอย่างเพลงเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น

เพลง ลูกหมาของใคร

เนื้อร้องและทำนอง: อ.สงวนศรี  พันธุ์พัฒน์

              ลูกหมาของใคร
ลูกหมาที่รัก
อยู่ในสวนผัก
เฝ้าบ้านเราเอย

                                      2)   ครูให้ทำกิจกรรม “เมตตาต่อสัตว์และพืช” ถ้าในโรงเรียนมีสัตว์เลี้ยง เช่น นก ไก่ ปลา กระต่าย และมีต้นไม้ ดอกไม้ โดยครูแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม (ตามความสมัครใจ) ให้สลับกัน กลุ่มหนึ่งดูแลรดน้ำพรวนดินให้ต้นไม้ เก็บใบไม้แห้งไปรวมให้ผู้ใหญ่เผา อีกกลุ่มหนึ่งช่วยกวาดทำความสะอาดบริเวณกรงสัตว์ ให้น้ำ ให้อาหาร และอุ้มให้ความรัก ความเมตตาต่อสัตว์ (ถ้าไม่เป็นอันตราย) เมื่อแต่ละกลุ่มทำเสร็จให้อีกกลุ่มไปตรวจความเรียบร้อย แล้วมารายงานหน้าชั้น
                                            ครูนำเด็กชมเชยและกล่าวขอบคุณที่ช่วยดูแลสัตว์ต่างๆ และต้นไม้ ดอกไม้ ของโรงเรียน เพื่อให้เด็กทุกคนภาคภูมิใจที่ได้ทำงานให้แก่ธรรมชาติด้วยความเมตตา กรุณาอยากให้สัตว์มีความสุข
                                      3)   ครูให้เด็กๆ ฝึกอธิษฐานจิต แผ่เมตตาแก่ผู้อื่นทุกครั้งที่เด็กๆ ได้ทำความดีหรือหลังจากสวดมนต์ พร้อมกับอธิบายว่า การแผ่เมตตาเป็นบุญ ยิ่งแผ่ไปมากเท่าใดยิ่งได้บุญเพิ่มขึ้นโดยที่บุญของเรามิได้หมดไปเลย กลับยิ่งมากขึ้น และสอนให้ร้องเพลง “ยิ่งให้ยิ่งได้”

บทแผ่เมตตา  (อย่างย่อ)

                              สัพเพ  สัตตา  สัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิต
จงอย่าผูกเวรกันเลย  จงอย่าเบียดเบียนกันเลย
จงอย่าได้ทุกข์กายทุกใจเลย  จงมีแต่ความสุขกายสุขใจ
รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด
และจงได้รับผลบุญจากข้าพเจ้าด้วยเถิด

เพลง ยิ่งให้ยิ่งได้

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล

                             ยิ่งให้  ยิ่งได้  ไม่มีหมด
ยิ่งหวง  ยิ่งหด  หมดเลยหนา
นี่คือ  คำสอน  ของหลวงตา *
กุศลพา  ให้โชคดี  ตลอดไป … มา  มา  ทำความดี
* หลวงตา คือ พระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี

                                     4) ครูสอนเด็กร้องเพลง “ความเมตตา” และ “ความกรุณา”

เพลง ความเมตตา

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ สุจริตกุล

                             ความเมตตาเป็นสมบัติของเด็กดี
ตรองดูซี  ทุกคนต้องมีเมตตา
หากเจอใครตกทุกข์ทนทรมาน์
มีเมตตา  สงสารเถิด  ประเสริฐเอย

เพลง ความกรุณา

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ สุจริตกุล

                             ความกรุณาเป็นสมบัติของเด็กดี
ช่วยทันทีเมื่อผู้ใดทุกข์ทน
หากเจอใครไม่ว่าสัตว์หรือคน
ช่วยให้พ้นทุกข์ยากลำบากกาย .. (ใจ)

                               2.5   ตัวอย่างกิจกรรมฝึกความอดทน
                                       1)   ครูให้เด็กทำกิจกรรม “คนเก่งต้องอดทน” โดยให้เล่นเกม เช่น “เกมกระรอกเข้าโพรง” วิธีเล่น ให้เด็กๆ จับมือกันกลุ่มละ 3 คน ในแต่ละกลุ่มให้คนที่ชอบวิ่งเป็นกระรอกเด็กอีก 2 คน หันหน้าหากันและเอามือจับกันไว้ เป็นโพรงซ้ายคนหนึ่ง และโพรงขวาคนหนึ่งให้คนที่เป็นกระรอกเข้าไปอยู่ในโพรง ครูใช้สัญญาณนกหวีดเป่าให้เตรียมตัว แล้วสั่งให้กระรอกหรือโพรงทำตามคำสั่ง เช่น กระรอกออกนอกโพรง/กระรอกเปลี่ยนโพรง/กระรอกเข้าโพรงเดิม/กระรอกหนีโพรง โพรงไล่จับกระรอก/และกระรอกมุดโพรง โพรงหนีกระรอก/เป็นต้น เมื่อเด็กเหนื่อยแล้วให้แยกออกไปนั่งพักเป็น 3 วง คือ วงกระรอก วงโพรงซ้าย และวงโพรงขวา
                                            ครูสนทนากับเด็กว่า ใครวิ่งชนโต๊ะ – เก้าอี้บ้าง ใครหกล้มบ้าง ใครวิ่งชนกันบ้าง  เจ็บไหม? เวลาเล่นสนุกเด็กๆ มักจะไม่รู้สึกเจ็บ หรือเจ็บก็ไม่ร้อง เพราะใจกำลังจดจ่ออยู่กับการเล่น มักจะลืมความเจ็บ นั่นคือ การอดทน การลืมความเจ็บปวดเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างการเล่น เป็นการฝึกความเข้มแข็ง อดทนไปในตัว นักกีฬาจึงมีความอดทนมาก ใครอยากเป็นนักกีฬา อยากเป็นคนเก่ง ต้องอดทน เจ็บนิดเดียว เดี๋ยวหายแล้ว ให้เด็กร้องเพลง “คนเก่งต้องอดทน”

เพลง คนเก่งต้องอดทน

เนื้อร้องและทำนอง: อ.จงดี  ทองใย

เกิดเป็นคน  เราต้องทน  ฝึกอดทน  เพื่อนเอ๋ย
อย่ามัวกลัว  ไม่ยำเกรง  เราต้องเก่ง  สู้เลย

                                       2)   ครูให้เด็กทำกิจกรรม “อดทนต่อความโกรธ” โดยครูสนทนาซักถามเด็กว่าใครเคยถูกเพื่อนว่า หรือด่า หรือพูดให้โกรธบ้าง? เมื่อโกรธแล้วตอบโต้อย่างไร? สรุปลงได้ว่าทะเลาะกันแล้วก็โกรธกัน ต่อจากนั้นครูเล่านิทาน เรื่อง “เออ ดี แล้วกันไป” ซึ่งมีใจความย่อๆ ดังนี้
                                              เด็กชายตึ๋งเป็นใบ้ เพราะหูหนวก ใครพูดอะไรก็ไม่ได้ยิน แต่ทำงานเก่ง วาดรูปสวย ส่งรูปไปประกวดมักได้รับรางวัลเสมอ ต่อมาเด็กชายตึ๋งหัดพูดออกเสียงได้ 5 คำ คือ “เออ ดี แล้วกันไป” เด็กชายตึ๋งจะพูดแต่คำ 5คำนี้ทั้งวัน ใครพูดอะไรด้วย เด็กชายตึ๋งก็ตอบว่า “เออ ดี แล้วกันไป”
                                             วันหนึ่งเด็กอื่นๆ ที่แพ้การประกวดวาดรูปพากันมาด่าว่าเด็กชายตึ๋งว่า ไอ้บ้าบ้าง ไอ้หนวกบ้าง เด็กชายตึ๋งก็ตอบว่า “เออ ดี แล้วกันไป” เด็กบางคนก็ใส่ร้ายว่ากรรมการลำเอียง  เห็นตึ๋งเป็นใบ้ก็เลยสงสารให้รางวัลไป ทั้งๆ ที่รูปที่ตึ๋งวาดไม่สวยเลย ตึ๋งก็ตอบว่า “เออ ดี แล้วกันไป” ในที่สุดเด็กใจร้ายคนหนึ่งได้เอาน้ำมาเทราดลงบนรูปที่ตึ๋งวาดค้างไว้ ตึ๋งก็ยังคงพูดว่า “เออ ดีแล้วกันไป” ปรากฏว่า สีที่ถูกน้ำละลายไหลลงมา กลายเป็นภาพน้ำตกสวยงามแปลกตารูปภาพของตึ๋ง รูปนั้นก็เลยชนะการประกวดได้รางวัลอีก
                                             ครูให้เด็กช่วยกันสรุปว่า เด็กชายตึ๋งเป็นคนอดทนต่อความโกรธ คนที่อดทนต่อความโกรธได้ คือ คนที่ใจเย็น รู้จักสะกดหรืออดกลั้นความโกรธได้ อยากจะด่าแต่อดใจไว้ไม่ด่าตอบ ตาดู-เห็นแล้วก็แล้วไป หูฟังได้ยิน เขาว่าเขาด่า-ก็ไม่ใส่ใจจำ ปล่อยให้เสียงมันผ่านไปเหมือนเด็กชายตึ๋ง ไม่ได้ยินอะไร ใครจะว่าอย่างไร ก็ตอบว่า “เออ ดี แล้วกันไป” แล้วถามเด็กว่าใครจะทำได้อย่างเด็กชายตึ๋งบ้าง
                                             ครูสอนให้เด็กร้องเพลง “อดทน”

เพลง อดทน

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ สุจริตกุล

                             อดทน  อดทน  อดทน    ทุกคนรู้จัก  อดกลั้น
อารมณ์ทั้งหลายคลายพลัน                        จิตสุขสันต์เมื่อเราอดทน

                                       3)   ครูให้เด็กทำกิจกรรม “ไม่เห็นจะน่ากลัว” โดยครูสนทนาซักถามเด็กๆ ว่าใครกลัวอะไรบ้าง แล้วให้เด็กเลือกสิ่งที่ตนกลัวมากที่สุด คนละ 1 อย่าง และให้เด็กที่กลัวสิ่งเดียวกันนั่งจับกลุ่มเป็นวง คุยกันว่าทำอย่างไรจึงจะหายกลัว ครูให้ตัวแทนของกลุ่มออกมาเล่า ครูสรุปหรือสอนให้เด็กอดทนต่อความกลัวด้วยวิธีต่างๆ เช่น หาเพื่อนไปด้วยกัน หรือทำด้วยกัน ท่องคำ ปลุกใจให้หายกลัว หรือร้องเพลงดังๆ แล้วสอนให้เด็กร้องเพลง “ไม่เห็นจะน่ากลัว” ปลุกใจให้อดทนต่อความกลัว

เพลง ไม่เห็นจะน่ากลัว

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล

              จะกลัวไปทำไม
หากเราทำความดี
ผู้ที่เป็นคนดี
แล้วจะมัวกลัวอะไร
ไม่เห็นว่าจะน่ากลัว
แล้วไม่มีความชั่ว
เขาไม่มีความกลัว
ไม่เห็นว่าจะน่ากลัว


                                        
เมื่อเด็กร้องเพลงได้แล้ว ให้แต่ละกลุ่มจับมือกันเป็นวงกลม เดินหมุนเวียนขวา  พร้อมกับร้องเพลงไปด้วย ตอนจบของเพลงให้บอกว่า กลุ่มนั้นๆ จะไม่กลัวอะไรหรือไม่กลัวบุคคลใด
                               2.6   ตัวอย่างกิจกรรมฝึกความซื่อสัตย์
                                       1)   ครูเล่านิทานให้เด็กฟัง เรื่อง “นกกระยางเจ้าเล่ห์” โดยใช้สื่อประกอบนิทานมีเนื้อเรื่องย่อดังนี้
                                             นกกระยางตัวหนึ่งอยากจะกินปลา ปู กุ้ง หอย ซึ่งอยู่ในสระน้ำเล็กๆ ก็ทำเป็นสงสารสัตว์เหล่านั้นจะต้องตายเมื่อน้ำในสระแห้งหมด โดยบอกสัตว์เหล่านั้นว่า ตนจะพาไปยังสระใหญ่ที่มีน้ำเยอะ ปลาหมอรับอาสาไปดูก่อนว่า นกกระยางพูดจริงหรือไม่ นกกระยางก็คาบปลาหมอบินไปถึงสระใหญ่มีน้ำ เต็มเปี่ยม แล้วคาบปลาหมอกลับมาบอกฝูงปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ว่า มีสระใหญ่จริงๆ พวกหอย ปู กุ้ง ปลาทั้งหลายรีบขอให้นกกระยางพาตนไปปล่อยในสระนั้นเร็วๆ นกกระยาง จึงคาบสัตว์น้ำไปทีละตัวๆ แต่แทนที่จะไปปล่อยลงน้ำในสระ กลับกินสัตว์น้ำเหล่านั้นเสียทีละตัว แล้วกลับไปคาบตัวอื่นมาใหม่ จนเหลือปูแก่ตัวสุดท้าย ซึ่งฉลาดมาก ปูได้บอกนกกระยางว่า กระดองปูแข็งมาก กลัวจะหลุดจากปากนกกระยาง จึงขอให้ปูหนีบคอนอกกระยางไปดีกว่า นกกระยางก็ยอมให้ ปูหนีบคอบินพามาถึงข้างสระใหญ่ ปูมองลงไปเห็นกระดูกปลา กุ้ง หอย ที่นกกระยางจับมากินทีละตัว ก็รู้ทันทีว่านกกระยางหลอกพวกตัวมากินหมดแล้ว จึงเอาก้ามปูหนีบคอนกกระยางอย่างแรงจนคอขาดตาย ปูก็ตกลงในสระใหญ่ รอดชีวิตอยู่ในสระนั้นได้ต่อไป
                                             ต่อจากนั้นครูนำให้เด็กวิจารณ์นิสัยของสัตว์แต่ละตัว เช่น นกกระยาง ปลาหมอ ปูแก่ ปลา กุ้ง หอย สรุปว่า สัตว์ตัวใดมีความซื่อสัตย์ ตัวใดไม่ซื่อสัตย์ ใครฉลาดแต่ไม่ซื่อสัตย์ได้รับผลอย่างไร ใครโง่ แต่ซื่อสัตย์ได้รับผลอย่างไร ใครฉลาดและซื่อสัตย์ได้รับผลอย่างไร
                                            ครูอาจให้เด็กเล่นบทบาทสมมุติเป็นนกกระยาง ปลาหมอ ปูแก่ และสัตว์น้ำทั้งหลาย โดยให้เด็กสวมหัวสัตว์เหล่านั้น แล้วให้คิดหาคำพูดมาพูดกันเองให้เป็นไปตามเนื้อเรื่อง
                                            ก่อนแสดง ครูสอนให้ร้องเพลงและทำท่าประกอบ

เพลง หอยปูกุ้งปลา

เนื้อร้องและทำนอง: อ.สงวนศรี  พันธุ์พัฒน์

                             มาพวกเรามา              มาเล่นน้ำเร็วไว
              ไวพวกเราไว                             หอย  ปู  กุ้ง  ปลา
              เราเป็นสัตว์น้ำ                           อยู่ในน้ำทุกเวลา

              หลังจากแสดงจบ มีการติ-ชม การใช้คำพูดและการแสดงของแต่ละคนแล้วครูสอนให้ร้องเพลง “ซื่อสัตย์” ดังนี้

เพลง ซื่อสัตย์

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล

              ตรง  ตรง  ตรง
จริง  จริง  จริง
คนซื่อทำประโยชน์สารพัด (ซ้ำ)
เราต้องซื่อตรงพูดแต่คำจริง
คนเก่งจริงจะต้องซื่อสัตย์
เราต้องหัดให้มีคุณธรรม (ซ้ำ)


                                      
2)   ครูให้เด็กเล่นเกมในห้องเรียน เช่น ไอ้เข้ไอ้โขง โพงพาง  งูกินหาง เอาเถิด  เจ้าล่อ ซ่อนหา ฯลฯ ตัวอย่างให้เล่นเกมซ่อนหา โดยให้ตกลงกติกาการเล่น ดังนี้
                                            (1)   ให้จับไม้สั้นไม้ยาว ใครจับได้ไม้สั้นที่สุดเป็นคนปิดตาคนแรก
                                            (2)   หาที่ซ่อนได้เฉพาะในห้องเรียน ห้ามออกนอกห้อง
                                            (3)   เมื่อได้รับสัญญาณอนุญาตให้เปิดตา จึงถอดผ้าปิดตาออก แล้วหาเพื่อน เจอตัวด้านหลังหรือด้านข้างให้เรียกชื่อทันที ถ้าเรียกชื่อถูก คนนั้นต้องมาเป็นผู้ปิดตาแทน
                                            (4)   ทุกคนต้องให้สัญญาว่าจะตามกติกาทั้ง 3 ข้อ แล้วครูสอนให้ท่องบทร้อยกรอง  ซ่อนหา ดังนี้

บทร้อยกรองซ่อนหา
              ซ่อน  ซ่อน  หา  หา
เปิด  เปิด  ปิด  ปิด
ปิดตาให้มิด
ต้องผิดสัญญา


              
ขณะที่เด็กเล่นกัน ครูคอยสังเกตว่ามีการผิดกติกาบ้างหรือไม่ ถ้ามีครูก็จะชี้แจงให้เด็กรู้ตัวว่าผิด ยอมรับผิด ขอโทษเพื่อน แล้วจึงให้เล่นต่อไป

เพลง ขอโทษ

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล

              เพื่อนจ๋า  เพื่อนจ๋า
ขอโทษเถิดเพื่อนเอ๋ย
พลั้งไปอภัยโดยพลัน
โกรธหรือไร  ไม่ยิ้มเลย
เราเคยเล่นด้วยกัน
ยกโทษให้ฉันเถิดเอย


                               
2.7   ตัวอย่างกิจกรรมฝึกความประหยัด
                                       1)   ครูฝึกให้เด็กทำของเล่นจากวัสดุธรรมชาติ เช่น
                                             1.1)   ก้านตอง  เอามาทำเป็นม้า เรียกว่า “ม้าก้านกล้วย” แล้วแข่งขันกัน  ขี่ม้าก้านกล้วย โดยแบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้เล่นกับฝ่ายผู้ชม ให้ผลัดกันเล่น ผลัดกันชม
              ฝ่ายผู้เล่นให้ยืนเรียงแถวหน้ากระดาน ใครถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะใครชนะก็ได้เป็นอัศวิน โดยให้ฝ่ายผู้ชมและผู้เล่นอื่นๆ ปรบมือให้
                                             1.2)   กะลาตัวเมีย (ข้างที่มีรู) ขัดให้เรียบ แล้วเอาเชือกร้อย 2 ฝา ให้เด็กเล่น “เดินกะลา” แข่งขันกัน
                                             1.3)   ใบทางมะพร้าว นำมาสานเป็นปลา
                                             1.4)   เมล็ดน้อยหน่า เมล็ดมะขาม นำมาเล่นอีตัก
                                      2)   ครูฝึกให้เด็กทำของเล่นเองจากวัสดุเหลือใช้ เช่น
                                             2.1)   แกนหลอดด้าย ให้นำมาร้อยเชือกลากเล่น โดยนำกระดาษที่ใส่ไข่มาทำเป็นตัวสัตว์ต่างๆ ติดกาวครอบไว้ข้างบน หรือนำแกนหลอดด้ายติดกับกล่องกระดาษ ตกแต่งให้เป็นรถสำหรับลากเล่น
                                             2.2)   กระดาษ  นำมาพับเป็นเครื่องบินหรือจรวดกระดาษร่อนเล่นกัน
                                      3)   ครูชี้ให้เด็กเห็นว่าของเล่นที่ได้จากธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้มีประโยชน์ไม่เป็นพิษเป็นภัยและช่วยให้ประหยัด ไม่ต้องเสียเงินซื้อ แต่เล่นได้สนุกเช่นกัน
                                      4)   ครูสอนให้เด็กร้องเพลง “ประหยัดได้ประโยชน์” และเพลง “ประหยัด”

เพลง ประหยัดได้ประโยชน์

เนื้อร้อง: ศ.อำไพ สุจริตกุล ทำนอง: เพลงยินดีไม่มีปัญหา

               เล่นอะไรทำเอา
ต้องชวนกันสร้างสรรค์
ประหยัดเงินทันที
ประหยัดแล้วเป็นประโยชน์
เก่งกว่าเขาทุกอย่าง
เล่นจำลองของโปรด
ฝึกอย่างนี้ไร้โทษ
เล่นอะไรทำเอง
 (สร้อย)  * สวัสดีครับ/ค่ะ  ผม/หนูชอบทำเอง  ไม่เกรงปัญหา *


เพลง ประหยัด

เนื้อร้องและทำนอง: เยาวชนค่ายศิลปะเด็กพิเศษ
(Art for All) รุ่น 1 ปี 2542

ประหยัด  ประหยัด  ประหยัด
ประหยัด  พอกิน  พอใช้
วันละนิด  ชีวิตจะสดใส
ชาติไทยจะได้มั่นคง
              ลัล  ลัล  ลา  ลัลลา  ลัล  ลัล  ลา (ซ้ำ)


                               2.8   ตัวอย่างกิจกรรมฝึกความขยัน
                                       1)   ครูให้เด็กทำกิจกรรม “หนูทำได้เอง” โดย
                                             1.1)   ครูสอนให้เด็กร้องเพลง “ผึ้งขยัน” และพูดคุยถึงความขยันของผึ้ง

เพลง ผึ้งขยัน

เนื้อร้อง: ศ.อำไพ สุจริตกุล ทำนอง: ลาวลำปาง

              หึ่ง  หึ่ง  หึ่ง  หึ่ง
ดูดดอมสุคนธ์
สร้างรวงรัง
หากขยันเหมือนผึ้งเมื่อใด
เสียงผึ้งบินเวียนวน
น้ำหวานแล้วบินเลยไป
สวยปานวังยิ่งใหญ่
ทุกคนก้าวไปสู่ความเจริญ (ซ้ำ)


                                            
1.2)   ครูถามว่าใครทำอะไรได้เองบ้าง ให้เด็กบอกมาคนละอย่าง เด็กอาจบอกว่าใส่เสื้อเอง ล้างมือเอง ทาแป้งเอง หวีผมเอง กลัดกระดุมเสื้อเอง กวาดบ้านเอง ฯลฯ และครูให้เด็กๆ ลองทำท่าให้ดู แล้วให้เด็กๆ ที่ทำได้เหมือนกันมาอยู่แถวเดียวกัน ครูให้ทุกคนในแถวทำพร้อมกันทีละอย่าง
                                            1.3)   ครูสอนให้เด็กร้องเพลง “หนูทำได้เอง” ถ้าเนื้อเพลงตรงกับแถวไหน ให้แถวนั้นทำพร้อมกัน

เพลง หนูทำได้เอง

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล

              ล้างมือ  ล้างมือ  ดูซี
ทาแป้ง  ทาแป้ง  ดูซี
หวีผม  หวีผม  ดูซี
กลัดกระดุม  กลัดกระดุม  ดูซี
ล้างมืออย่างนี้  หนู/ผมทำได้เอง
ทาแป้งอย่างนี้  หนู/ผมทำได้เอง
หวีผมอย่างนี้  หนู/ผมทำได้เอง
กลัดกระดุมอย่างนี้  หนู/ผมทำได้เอง
ฯลฯ


                                      
2)   ครูให้ทำกิจกรรม “คนขยันคือคนเก่ง” โดยครูพาเด็กออกไปที่สนามหญ้าหรือสวนดอกไม้บริเวณโรงเรียน ชี้ให้ดูใบไม้ใบหญ้าที่แห้ง หรือหล่นเกลื่อนกลาดอยู่ตลอดจนกิ่งไม้หรือเศษกระดาษ เศษขยะ ที่รกอยู่ในสวนในสนาม แล้วถามเด็กว่า ทำอย่างไรสนามหรือสวนจะสะอาด ไม่รกเด็กๆ อาจจะตอบว่า ช่วยกันเก็บ ครูก็ตั้งคำถามต่อไปว่า เก็บอย่างไรจึงจะสะอาดและมือไม่เปื้อน คำตอบก็คือ หาไม่แหลมๆ มาเสียบ แล้วใส่ลังหรือถังขยะ ครูควรเตรียมก้านไม้ไผ่ ตัดปลายให้แหลม หรือไม้เสียบปลาย่าง แจกให้เด็กคนละอัน สำหรับจิ้มใบไม้แห้งหรือเศษกระดาษ เศษขยะ จัดให้เด็กบางคนถือกล่อง-ลังกระดาษ หรือถังขยะคอยตามไปรับขยะจากที่เพื่อนจิ้มเสียบไว้
                                             ก่อนทำกิจกรรมนี้ ครูอาจสอนให้เด็กร้องเพลง และอธิบายความหมายของคำว่า  คนขยันด้วย

เพลง คนเก่งต้องขยัน

เนื้อร้องและทำนอง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล

ใครเก่ง  ใครเก่ง  ช่วยที
ช่วยกัน  ช่วยกัน  ช่วยกัน
ขยัน  มันเป็น  จั๋งได๋ (ซ้ำ)
มาเร็วคนดี  ใครเก่งช่วยเลย
เราคนขยัน  ช่วยกัน  เสร็จเอย
รีบเร่งทำไป จนเสร็จแหละเอย (ซ้ำ)

                                             หลังทำกิจกรรมนี้ ครูให้เด็กไปล้างมือ แล้วมานั่งล้อมวงคุยกันว่าใครเก่ง ทำอะไรบ้าง ให้เด็กๆ ช่วยกันบอกว่า เพื่อนคนไหนทำอะไร ต่างคนต่างเสนอความดีของผู้อื่น ครูให้คำชมเชยว่า “หนู…เก่ง คนขยันคือคนเก่ง” ทุกคนปรบมือให้ ผู้ได้รับคำชมลุกขึ้นยืนไหว้คุณครูและเพื่อนๆ
                                             กิจกรรมคนขยันคือคนเก่งนี้ ครูอาจพลิกแพลงนำไปใช้ได้หลายกรณี เพื่อให้เด็กภาคภูมิใจในการทำอะไรด้วยตนเอง ช่วยตัวเองได้ และชอบช่วยเหลืองานทุกอย่างที่พอทำได้ซึ่งเป็นการปลูกฝังความขยันหมั่นเพียรให้แก่เด็ก
                               2.9   ตัวอย่างกิจกรรมฝึกความไม่เห็นแก่ตัว
                                       1)   ครูให้เด็กๆ ทำกิจกรรม “ใครเอาแต่ใจ” ดังนี้
                                             1.1)   ครูเล่านิทานเรื่อง “นกกระสากับหมาจิ้งจอก” ความว่า หมาจิ้งจอกเชิญนกกระสาไปกินเลี้ยงที่บ้าน หมาจิ้งจอกเอาข้าวใส่จานแบบๆ หมาจิ้งจอกเลียกินได้ แต่นกกระสาปากยาวกินได้ วันต่อมานกกระสาเชิญหมาจิ้งจอกไปกินข้าวบ้าง นกกระสาเอาข้าวใส่คนโทปากสูง ซึ่งนกกระสาก้มคอยื่นปากเข้าไปกิน
                                             1.2)   ครูให้เด็กๆ ช่วยกันคิดว่า หมาจิ้งจอกเห็นแก่ตัวอย่างไร และนกกระสาเห็นแก่ตัวอย่างไร สรุปได้ว่า ทั้งหมาจิ้งจอกและนกกระสาเอาแต่ใจตัว ไม่เห็นใจเพื่อน และให้คิดต่อว่า ถ้านักเรียนชวน เพื่อนไปกินข้าวนักเรียนจะทำอย่างไร
                                      2)   ครูให้เด็กๆ ทำกิจกรรม “เด็กดีไม่เห็นแก่ตัว” ดังนี้
                                            2.1)   ครูนำเด็กๆ ไปที่สนาม และแบ่งเด็กเป็นกลุ่มๆ ตามจำนวนเครื่องเล่น ที่มีแล้วให้ผลัดกันเล่น โดยนับจำนวนการเล่นเท่าๆ กัน เช่น
                                                     กระดานลื่น      ให้เข้าแถวขึ้นไปเล่นได้คนละครั้ง แล้วมาต่อแถว
                                                     ชิงช้า                ให้ยืนเรียงลำดับรอกัน แล้วนับการแกว่งชิงช้าของแต่ละคน 10-20 ครั้ง แล้วลงให้เพื่อนคนถัดไปเล่นต่อ ตนเองไปต่อท้าย
                                            2.2)   ครูให้เด็กๆ หมุนเวียนไปเล่นเครื่องเล่นสนามจนครบทุกคน แล้วพาไปล้างมือ ล้างหน้า ต่อจากนั้นมานั่งล้อมวงคุยกัน
                                            2.3)   ครูถามเด็กว่า ใครได้เล่นเครื่องเล่นแล้ว มีใครไม่อยากเล่นบ้าง (คงไม่มีเพราะทุกคนอยากเล่นด้วยกันทั้งนั้น)
                                            2.4)   ครูสอนเด็กๆ ร้องเพลง “เด็กดีไม่เห็นแก่ตัว”

เพลง เด็กดีไม่เห็นแก่ตัว

เนื้อร้อง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล    ทำนอง: ฟ้อนเงี้ยว

              เด็กที่ดี
เอื้อเฟื้อแบ่งปัน
รู้จักเกรงใจ
ดีทุกขั้นตอน
ต้องช่วยเหลือกัน
เห็นใจเมื่อเพื่อนเดือดร้อน
และทนคอยไม่เกี่ยงงอน
ไม่แย่งของใคร  ไม่เห็นแก่ตัว
                            มง แซะ  มง แซะ  แซะ มง  ตะลุ่ม  ตุ้ม มง (ซ้ำ)

                                      3)   ครูให้เด็กๆ ทำกิจกรรม “เกมสี่สหาย” ตามวิธีการของ อำไพ  สุจริตกุล ดังนี้
                                            3.1)   แบ่งเด็กๆ ออกเป็น 4 กลุ่ม เท่าๆ กัน นั่งเป็น 4 วงหรือ 4 แถว แล้วสมมุติให้แต่ละกลุ่มเป็นสัตว์ 4 ชนิด คือ เป็ด ไก่ หมู แมว
                                            3.2)   เล่าเรื่องให้ทุกกลุ่มฟังว่า หนูแป๋มเป็นคนเลี้ยงสี่สหาย ทุกวันได้นำอาหารมาให้สัตว์ทั้ง 4 ชนิด แต่ต้องถามก่อนว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา”
                                            3.3)   บอกนิสัยของสัตว์แต่ละชนิดว่าชอบกินอาหารต่างกัน
                                                      เป็ด     ชอบกิน รำ และ ปลา
                                                      ไก่       ชอบกิน  ข้าว  และ  ผัก
                                                      หมู      ชอบกิน  รำ  และ  ผัก
                                                      แมว     ชอบกิน  ข้าว  และ  ปลา
                                            3.4)   ให้แต่ละกลุ่มตกลงกันเองให้ได้มติว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา” โดยเลือกเพียงคำตอบเดียว
                                            3.5)   กลุ่มใด “เอา” ให้ส่งเสียงร้องของสัตว์ในกลุ่มพร้อมกัน กลุ่มใด “ไม่เอา” ให้ทุกคนในกลุ่มโบกมือไขว้ไปมา
                                            3.6)   อธิบายกติกาว่า
                                                      ถ้าทุกกลุ่ม        ตอบเหมือนกัน   ได้กิน
                                                      ถ้าทุกกลุ่ม        ตอบต่างกัน       อดกิน
                                                      ต้องได้คำตอบครบ 4 กลุ่ม จึงบันทึกลงตารางแต่ละวัน

วันที่/กลุ่ม (ภาพ)
เป็ด
(ภาพ)
ไก่
(ภาพ)
หมู
(ภาพ)
แมว
ผล

                                          3.7)   บอกชื่ออาหารที่หนูแป๋มนำมาแต่ละวัน ดังนี้
                                                   วันที่ 1  หนูแป๋มนำ รำ มาให้ ถามว่า เอาไหม?
                                                   ได้คำตอบจาก 4 กลุ่มแล้ว เขียนลงตาราง
                                                   วันที่ 2  หนูแป๋มนำ ข้าว มาให้ ถามว่า เอาไหม?
                                                   ได้คำตอบจาก 4 กลุ่มแล้ว เขียนลงตาราง
                                                   วันที่ 3  หนูแป๋มนำ ผัก มาให้ ถามว่า เอาไหม?
                                                   ได้คำตอบจาก 4 กลุ่มแล้ว เขียนลงตาราง
                                                   วันที่ 4  หนูแป๋มนำ ปลา มาให้ ถามว่า เอาไหม?
                                                   ได้คำตอบจาก 4 กลุ่มแล้ว เขียนลงตาราง
                                                   วันที่ 5  หนูแป๋มนำ รำ และ ข้าว มาให้ ถามว่า เอาไหม?
                                                  ได้คำตอบจาก 4 กลุ่มแล้ว เขียนลงตาราง
                                         3.8)   เมื่อบันทึกผลครอบ 5 วันแล้ว ครูจึงสรุปผลแต่ละวันว่า วันไหน ได้กิน หรืออดกิน
                                         3.9)   หลังจากทำกิจกรรมเสร็จแล้ว ให้นักเรียนช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่า “กิจกรรมนี้ให้บทเรียน หรือให้ข้อคิดอะไรบ้าง” แล้วครูสอนให้เห็นว่า ถ้าเลือกโดยเห็นแก่ตัวฝ่ายเดียวจะอดกินหมดทุกกลุ่ม แต่ถ้าเลือกโดยนึกถึงผู้อื่นก่อน นึกถึงส่วนรวมก่อนส่วนตน เช่น วันนี้ไม่มีของที่ตนชอบ แต่มีที่ผู้อื่นชอบก็ยอมเลือกเพื่อให้ผู้อื่นได้กิน ยอมเสียสละความชอบของตนเลือกให้ผู้อื่นในที่สุดตนก็จะได้รับด้วย ครูพยายามสรุปและเน้นให้เห็นว่าควรเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมก่อน แล้วส่วนตนก็จะได้เองในภายหลัง ใครเห็นใจผู้อื่นนึกถึงส่วนรวมก่อน คนนั้นเป็นคนไม่เห็นแก่ตัว
                                         3.10)   สรุปโดยสอนเพลง “ไม่เห็นแก่ตัว”

เพลง ไม่เห็นแก่ตัว

เนื้อร้อง: ศ.อำไพ  สุจริตกุล ทำนอง: ฟ้อนเงี้ยว

              ไม่เห็นแก่ตัว
ไม่เอาเปรียบใคร
รู้จักเกรงใจ
ไม่เอาแต่ใจ
ไม่เอาตัวรอด
ให้แก่ส่วนรวม
ไม่เห็นแก่ตัว

การประเมินผล

              การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เรื่องคุณธรรมและเจตคติของเด็ก ต้องใช้วิธีการหลายอย่าง หลายแบบ และในทุกโอกาส รวมทั้งต้องวัดด้วยการปฏิบัติด้วย เพื่อตรวจสอบทั้งผลการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็กว่าได้ผลตามเป้าหมายหรือไม่ ครูจึงต้องใช้เทคนิควิธีการต่างๆ ดังนี้
              1.   การสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ขณะร่วมกิจกรรมทุกครั้ง
              2.   การให้เด็กวิเคราะห์พฤติกรรมของตนเองจากตารางวิเคราะห์
              3.   การให้เด็กประเมินความรู้สึกของตนต่อพฤติกรรมของผู้อื่น
              4.   การตั้งคำถามกระตุ้นให้เด็กได้แสดงความรู้ ความคิด และความรู้สึกต่างๆ
                    4.1   คำถามให้เด็กบอกเล่ากิจกรรมที่ตนเคยปฏิบัติ
                    4.2   คำถามที่แสดงถึงการที่เด็กได้นำความรู้ ความเข้าใจ ไปใช้ในการแก้ปัญหา
                    4.3   คำถามให้เด็กได้ยกตัวอย่างการกระทำที่ดี มีคุณธรรม และการกระทำที่ไม่ดี ควรละเว้น
                    4.4   คำถามที่ให้เด็กคิดหาเหตุผล
              5.   การวัดและประเมินจากผลงานของเด็ก

รายการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ : คุณธรรมและเจตคติ
              
1.   ความรับผิดชอบในการทำสิ่งต่างๆ ของตนเอง และรับผิดชอบงานของส่วนรวมที่ได้รับมอบหมาย
              2.   การมีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ
              3.   การช่วยผู้มีบุญคุณทำสิ่งต่างๆ
              4.   การช่วยเหลือคนและสัตว์ที่เดือดร้อน
              5.   การรอคอยโอกาสและอดทนทำสิ่งที่ยากให้สำเร็จ
              6.   การนำของผู้อื่นมาเป็นของตน
              7.   การกินและใช้สิ่งต่างๆ อย่างประหยัด
              8.   ความขยันทำงาน
              9.   การทำเพื่อส่วนรวม
              10. การเห็นคุณค่าของตนเอง ผู้อื่น และสิ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต
              11. ความภาคภูมิใจในความสำเร็จ
              12. ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
              13. ความเชื่อมั่นในตนเอง
              14. ความมุ่งมั่นทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ
              15. ยอมรับและเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด
              16. มองโลกในแง่ดี
              17. การควบคุมอารมณ์ตนเอง

บรรณานุกรม 

              น้อมศรี  เคท และคณะ. 2549. รายงานการวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล สำหรับสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. (ภาคผนวก) กรุงเทพมหานคร : คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 1 – 29.

(บทความที่ 2 ชุดที่ 1)