เรื่อง การสอนเด็กปฐมวัยให้เข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน

การสอนเด็กปฐมวัยให้เข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน

รศ.ดร.จีระพันธุ์  พูลพัฒน์  (พ.ศ. 2558)

บทนำ

              ปี พ.ศ. 2558 เป็นจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ดังนั้น มีความจำเป็นที่ทุกคนในชาติ ในทุกระดับการศึกษา ต้องมีความรู้เกี่ยวกับความหมายของ คำว่า อาเซียน รู้จักเรื่องราวต่างๆ ของประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ของประชาคมอาเซียน ทั้งประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศเหล่านี้ ที่จะทำให้เข้าใจ เข้าถึงและร่วมมือกันทำงานร่วมกัน สรรสร้างวิถีทางในการพัฒนาประเทศในกลุ่มไปด้วยกัน การศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาคน ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะ และมีเจตคติ เหมาะกับการเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน
              การศึกษาปฐมวัย เป็นการศึกษาระดับแรกที่จะช่วยในการตระเตรียมเด็กให้มีความรู้ความเข้าใจ มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์สำหรับการเป็นเด็กไทยในประชาคมอาเซียน ซึ่งการจัดการศึกษาเพื่อสร้างพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้แก่เด็กปฐมวัย สามารถจัดการได้หลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าสถานศึกษาจะมีปรัชญา หลักการ และแนวคิดใดเป็นหลักในการจัดการศึกษา ก็สามารถบูรณาการความรู้ใหม่นี้เข้าไปได้ในหลักสูตรมีการปรับปรุงเนื้อหาสาระ จัดหน่วยการเรียน และกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเหมาะสม การเตรียมความพร้อมทักษะต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ และดำรงชีวิตท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรมจากประเทศต่างๆ รวมถึง การที่จะสามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงามของไทยสู่ประเทศอื่น และเปิดรับสิ่งที่ดีงามของชาติอื่น โดยยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติ และความเป็นคนไทยอย่างผู้รู้คุณค่าของประเทศตน
              การสอนหรือการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัยเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน ไม่ใช่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องมีความร่วมมือกันและมีการส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เริ่มตั้งแต่หน่วยงานในระดับต่างๆ จนถึงระดับสถานศึกษา ที่มีผู้บริหาร ครู นักเรียน พ่อแม่/ผู้ปกครอง และบุคลากรอื่นที่เกี่ยวข้องที่ทุกคนในทุกระดับน่าจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาของอาเซียน ที่ทำให้พร้อมที่จะพูดคุยกันได้อย่างเข้าใจในประเทศตนเองและในประชาคมอาเซียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษาและตัวบ่งชี้ เพื่อกำกับให้มีการสร้างความเข้าใจบางเรื่องไปในทิศทางเดียวกัน บุคลากรในสถานศึกษาทุกคนต้องได้รับการพัฒนา รวมถึงพัฒนาตนเองให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน โดยเฉพาะครูต้องรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติ โดยถ่ายทอดให้แก่นักเรียนได้เหมาะสมกับวัยและบริบทของสถานศึกษา

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน
              การส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนเป็นหน้าที่ของทุกคน สำหรับเด็กปฐมวัยก็เป็นหน้าที่ของทุกคนที่อยู่แวดล้อมจะช่วยกันเสริมสร้างให้เด็กปฐมวัยก้าวไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ในสังคมอาเซียนได้อย่างเหมาะสมมีความพอดี เป็นตัวของตัวเอง ขยายความคิดของตนได้ ปรับในการที่รับสิ่งใหม่เข้ามาโดยไม่ลืมของดีในแผ่นดิน
              สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ทำการวิจัยในเรื่องการพัฒนามาตรฐาน และยุทธศาสตร์ในการพัฒนาโรงเรียนสู่ประชาคมอาเซียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในระหว่างปี พ.ศ. 2553-2554 ได้ทำบทสรุปสำหรับผู้บริหาร มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
              1.   ความคาดหวังด้านการบริหารจัดการ ในด้านนี้คาดหวังให้โรงเรียนกำหนดวิสัยทัศน์ หลักสูตรการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียนไว้ในหลักสูตรสถานศึกษา การร่วมมือกับชุมชนในการจัดทำหลักสูตร และจัดทำแผนพัฒนาระบบการบริหาร เพื่อพัฒนาโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล การพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการที่หลากหลาย ด้วยการบูรณาการทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ การพัฒนาครูในโรงเรียนทุกคนให้สามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารและการจัดสัมมนาศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการนิเทศติดตามการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน โรงเรียนจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียนให้นักเรียนได้ซึมซับวัฒนธรรมเข้าสู่อาเซียน เช่น การให้ความรู้เสียงตามสายก่อนเคารพธงชาติ การจัดป้ายนิเทศเกี่ยวกับประเทศอาเซียน การจัดให้มีธงอาเซียนประดับโรงเรียน การแต่งกายประจำชาติประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดให้มีครูสอนภาษาอาเซียนและจัดให้มีห้องที่มีบรรยากาศ ส่งเสริมการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน
              2.   ความคาดหวังด้านการพัฒนาครูผู้สอน ให้ความรู้กับครูทุกคนเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของประชมคมอาเซียน จัดให้มีแหล่งเรียนรู้อาเซียนศึกษาในและนอกห้องเรียน ครูร่วมกันจัดทำหลักสูตรการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและใช้เป็นแนวทางเดียวกัน เพิ่มหลักสูตรอาเซียนศึกษาเข้าไปในหลักสูตรสถานศึกษาและบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนมีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน มีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามสภาพจริง การใช้สื่อเทคโนโลยี มาใช้ประกอบการสอน ให้มีการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง
              3.   ความคาดหวังด้านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้มีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุนเพื่อเตรียมสู่ประชาคมอาเซียน มุ่งหวังให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
              4.   ความคาดหวังด้านคุณภาพผู้เรียน พัฒนาผู้เรียนในด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน มีหลักสูตรอาเซียนเพื่อสร้างความตระหนัก และเจตคติที่ดีต่อผู้เรียน สร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกัน ไม่มีการแบ่งแยก ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พัฒนาผู้เรียนให้ทุกคนสามารถยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียนได้
                    สรุปผลการวิจัยบางส่วน สาระนับว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหาร และครูจะนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย เพื่อพัฒนาเด็กเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้มีคุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์หลายประการที่ได้กำหนดไว้ในมาตรฐานการศึกษาของชาติ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, 2547) เป็นทักษะที่ครูจำเป็นต้องพัฒนาให้แก่เด็กเพื่อการประสานสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มคนต่างๆ ในประชาคมอาเซียน ซึ่งควรจะได้มีการดำเนินการแล้วทุกระดับ ทุกสถานศึกษาทั่วประเทศ เพราะว่าปัจจุบันปี พ.ศ. 2558 มาตรฐานที่ได้กำหนดไว้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถ้าทุกสถานศึกษาได้มีการเตรียมการและดำเนินการมุ่งไปสู่มาตรฐานการศึกษาของชาติ เด็กไทยในทุกระดับการศึกษาก็น่าจะได้รับการพัฒนาให้เป็นพลเมืองและพลโลกที่พึงประสงค์ ตามมาตรฐานที่ 1 ที่ได้ระบุไว้ เช่น

“มาตรฐานที่ 1 คุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ ทั้งในฐานะพลเมืองและพลโลก”
              ตัวบ่งชี้ 1.3 ทักษะการเรียนรู้และการปรับตัว
                                  สามารถปรับตัวได้ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
              ตัวบ่งชี้ 1.4 ทักษะทางสังคม
             
                      14.2 คนไทยมีความรับผิดชอบ เข้าใจ ยอมรับ และตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรมที่แตกต่าง สามารถแก้ปัญหาในฐานะสมาชิกของสังคมไทย และสังคมโลกโดยสันติวิธี
              ตัวบ่งชี้ 1.5 คุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทย และพลโลก
           
                       15.2 ….. มีความภูมิใจในชนชาติไทย รักแผ่นดินไทย และปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตย เป็นสมาชิกที่ดี เป็นอาสาสมัครเพื่อชุมชนและสังคม ในฐานะพลเมืองไทย และพลโลก”
             
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (2557) ได้ทำการวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน มีผลสรุปการวิจัยที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักการศึกษาปฐมวัยในทุกระดับ เพื่อไปเป็นแนวคิดแนวทางวางกรอบนำไปสู่การปฏิบัติในการสอนเด็กปฐมวัยให้เข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนได้ โดยมีสรุปผลการวิจัยดังนี้
              1.   สภาพการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยเพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน
                    1.1   ผู้บริหารสถานศึกษา
                     
       1.1.1   ด้านบริบทที่เกี่ยวข้องกับสภาพการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยเพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนในระดับมากในประเด็นต่อไปนี้ เรียงตามลำดับ คือ หน่วยงานมุ่งส่งเสริมให้สถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เน้นการสร้างวัฒนธรรมที่เป็นสากล ด้วยการเคารพสิทธิ์ เคารพกฎหมาย การเอื้อเฟื้อการมีวินัย ความสามัคคี ส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัวในทุกเชื้อชาติ ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นความร่วมมือระหว่างชุมชนและครอบครัว และส่งเสริมการเรียนรู้การสื่อสารด้วยภาษาทางวัฒนธรรม ทั้งภาษาพูด ภาษาอาเซียน และภาษาท่าทาง
                            1.1.2   ด้านการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยเพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน ในระดับมากที่สุด เรียงตามลำดับในประเด็นต่อไปนี้ ผู้บริหารเคารพในสิทธิ์และความแตกต่างของ เชื้อชาติสนับสนุนส่งเสริมตลอดจนพัฒนาและเตรียมความพร้อมบุคลากรในทุกๆ ด้าน เช่น การอบรม สัมมนา ส่งเสริมให้ครูได้รับความรู้ และเห็นความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นไทย มีความตระหนักในเรื่องความแตกต่างของวัฒนธรรมและความเป็นไทย และมีเจตคติที่ดีในการเข้าสู่ประชมคมอาเซียน
                            1.1.3   ด้านคุณลักษณะของเด็กปฐมวัยเพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนเรียงตามลำดับในประเด็นต่อไปนี้ เด็กปฐมวัยมีความภูมิใจในความเป็นไทย มีความภูมิใจในความเป็นอาเซียน เคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่น เช่น การเก็บรักษาสิ่งของการขออนุญาตเมื่อต้องการใช้สิ่งของของผู้อื่น มีความสามารถในการจัดการควบคุมตนเอง เช่น การอดทน การรอคอย การแบ่งปัน ฯลฯ มีความรับผิดชอบในการทำกิจกรรมและงานที่มอบหมาย และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นกัลยาณมิตรและมีความสุข
                    1.2   ครูปฐมวัย
                            1.2.1   ด้านบริบทที่เกี่ยวข้องกับสภาพการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยเพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน อยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับในประเด็นต่อไปนี้ หน่วยงานส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นความร่วมมือระหว่างชุมชนและครอบครัว ส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เน้นการสร้างวัฒนธรรมที่เป็นสากล ด้วยการเคารพสิทธิ์ เคารพกฎหมาย การเอื้อเฟื้อ การมีวินัย ความสามัคคี ส่งเสริมให้จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่มีการบูรณาการเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ส่งเสริมให้สถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของความแตกต่างทางวัฒนธรรม กำหนดนโยบาย แนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับการเตรียมเด็กปฐมวัยก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน และส่งเสริมกระบวนการจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้กับเด็กทุกเชื้อชาติได้รับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
                            1.2.2   ด้านการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยเพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน อยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับในประเด็นต่อไปนี้ ครูเป็นแบบอย่างที่ดีในการมีวัฒนธรรมไทยเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงถึงความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ให้การเสริมแรงเมื่อเด็กปฐมวัยแสดงความภาคภูมิใจในความเป็นไทย จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยเห็นคุณค่าของตนเอง และปลูกฝังทักษะการคิด เช่น คณิต-วิทย์ ภาษา ทักษะทางสังคมและทักษะชีวิต
              2.   รูปแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน
                     2.1   ด้านปัจจัยนำเข้า 
ได้แก่ ผู้สอน ผู้บริหาร ผู้ปกครอง หลักสูตร และการบริหารจัดการ
                             
ผู้เรียนเป็นเด็กปฐมวัย อายุระหว่าง 3-5 ปี ที่อยู่ในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนและมีบริบทด้านพหุวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
                             2.1.1   ผู้สอน ครูปฐมวัยต้องภูมิใจในความเป็นไทยและความเป็นประชาคมอาเซียน มีความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ให้เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยเป็นแบบอย่างที่ดีในการมีวัฒนธรรมไทย เคารพในสิทธิและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดสร้างสรรค์ สามารถปรับตัวให้ทันและไวต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีของโลกาวิวัตน์ รู้และเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดการเรียนรู้ นวัตกรรมทางการศึกษาปฐมวัย สามารถบูรณาการเชื่อมโยงกับประชาคมอาเซียนได้
                             2.1.2   ผู้บริหาร ต้องตระหนักถึงความแตกต่างของวัฒนธรรมและความเป็นไทย ภูมิใจในความเป็นไทยและความเป็นประชาคมอาเซียน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน เข้าใจบริบทความหมายของการพลเมืองอาเซียนในระดับปฐมวัย มีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดสร้างสรรค์สามารถปรับตัวให้ทันและไวต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีของโลกาวิวัตน์ ส่งเสริมให้ครูได้รับความรู้และเห็นความสำคัญของความเป็นไทยและความเป็นประชาคมอาเซียน สนับสนุน ส่งเสริม เตรียมความพร้อมและพัฒนาบุคลากรในทุกๆ ด้าน ตลอดจนมีความสามารถในการประสานภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมมือในการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน
                             2.1.3   ผู้ปกครอง ครอบครัวปลูกฝังลูกหลานให้มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ความเป็นอาเซียน มีทักษะชีวิตและทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคม การยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประเพณี ให้เด็กเข้าใจว่าเพื่อนๆ และคนในชุมชนอาจมีรูปร่างหน้าตา เชื้อชาติ ศาสนาแตกต่างกัน แต่สามารถช่วยเหลือกัน แบ่งปันกันและอยู่ร่วมกันได้ มีส่วนร่วม สนับสนุน ร่วมมือกับสถานศึกษาในการจัดกิจกรรมพัฒนาเด็กก้าวสู่ความเป็นพลเมืองอาเซียน
                             2.1.4   หลักสูตร ต้องยึดหลักสูตรแกนกลางระดับชาติเป็นหลัก จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่มีการบูรณาการเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนที่เพิ่มสาระการเรียนรู้โดยเฉพาะการเน้นสาระที่ควรรู้ให้เหมาะสมกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในท้องถิ่นของเด็กซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละสถานศึกษา แต่ประสบการณ์สำคัญต้องสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางที่กำหนดไว้ครอบคลุมพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา โดยมีองค์ประกอบต่างๆ ของหลักสูตรสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในการก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนตามเป้าหมายที่ต้องการ
                             2.1.5   การบริหารจัดการ  หน่วยงานต้องกำหนดนโยบาย/แนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับการเตรียมเด็กปฐมวัยก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน สนับสนุนการพัฒนาสถานศึกษาสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นความร่วมมือระหว่างชุมชนและครอบครัว สร้างความเข้มแข็งของครอบครัวโดยไม่แบ่งเชื้อชาติ และส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมที่เป็นสากลได้แก่ การเคารพสิทธิ์ เคารพกฎหมาย การเอื้อเฟื้อ การมีวินัย ความสามัคคี โดยหน่วยงานกลางต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุน
                             2.1.6   สื่อ-เทคโนโลยี  ใช้สื่อของจริงที่หลากหลาย มีความชัดเจน มีเหตุมีผล สัมผัสได้เพื่อช่วยให้เด็กเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ได้แก่ สื่อบุคคล สื่อหนังสือนิทานประกอบภาพที่มีเนื้อหาสร้างเจตคติที่ดีในการอยู่ร่วมกันทางสังคม สื่อจำลองหรือรูปภาพวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละชาติในอาเซียนและสื่อมัลติมีเดียเกี่ยวกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของประชากรในอาเซียน
                             2.1.7   บรรยากาศและสภาพแวดล้อม  จัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนที่กระตุ้นให้เด็กได้สำรวจ ค้นคว้า และทดลอง จัดป้ายนิเทศ มุมประสบการณ์ที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นของประชาคมอาเซียน จัดป้ายนิเทศ จดหมายข่าว แผ่นพับ และสื่อมัลติมีเดีย เช่น line, facebook ให้ครู ผู้ปกครองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ติดต่อสื่อสารกันและมีความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน
                    2.2   ด้านกระบวนการ 
ได้แก่ การเตรียมการ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการประเมินผล การจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย คำนึงถึงวัย ธรรมชาติ ความต้องการและความสนใจของเด็กปฐมวัย ยึดตามหลักการจัดการศึกษาปฐมวัย จัดการเรียนรู้ที่ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาคุณลักษณะ อันพึงประสงค์ของเด็กปฐมวัยในการเป็นพลเมืองอาเซียน โดยบูรณาการผ่านการเล่น การลงมือปฏิบัติ การทำกิจกรรมในกิจวัตรประจำวัน และประเมินผลตามสภาพจริง ในลักษณะดังนี้
                             2.2.1   การเตรียมการ  ครูวางแผนจัดทำหน่วยประสบการณ์ที่บูรณาการ สาระการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ผ่านประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการทั้งร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
                             2.2.2   การจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ครูจัดกิจกรรมให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมผ่านการใช้ประสาทสัมผัส เรียนรู้อย่างกระตือรือร้น ส่งเสริมทักษะการคิด การใช้ภาษาสื่อความหมายในชีวิตประจำวัน กิจกรรมไม่เน้นการท่องจำและการแข่งขัน ครูตั้งประเด็นอภิปรายให้เด็กแสดงความคิดเห็นและสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ จัดกิจกรรมให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น ให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนหรือคนในชุมชนเพื่อให้เด็กเกิดการรับรู้เข้าใจยอมรับในความแตกต่าง สามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน จัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กฝึกการประหยัดอดออม และพอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
                             2.2.3   การประเมินผล  ประเมินตามสภาพจริง โดยสังเกตเด็กเป็นรายบุคคลด้วยวิธีการและเครื่องมือที่หลากหลาย เหมาะกับพัฒนาการเด็ก เช่น สังเกตพฤติกรรม สนทนา พอร์ตโฟลิโอ ผลงานเด็กรายบุคคล ผลงานกลุ่ม การสะท้อนตนเองของเด็ก ครูและผู้ปกครองและนำผลการประเมินมาใช้ในการพัฒนาหรือปรับปรุงการจัดประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาเด็กให้เหมาะสม
                     2.3   ด้านผลลัพธ์ 
ได้แก่ คุณลักษณะของเด็กปฐมวัยในการก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน ด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านเจตคติ
                             2.3.1   ด้านความรู้  มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง สังคม วัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนและประเทศสมาชิกอาเซียนที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก เข้าใจบทบาทในฐานะสมาชิกของสังคมการเป็นผู้นำผู้ตาม การตั้งใจทำงานตามหน้าที่ เข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้คน และธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เข้าใจถึงการรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยปราศจากการทำลายสิ่งแวดล้อม
                             2.3.2   ด้านทักษะ  ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัยและบริบทแวดล้อม มีทักษะการแสวงหาความรู้ การสรุปความรู้และนำเสนอได้ด้วยตนเอง มีความสามารถในการคิดเชิงเหตุผล คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหาโดยปราศจากการใช้ความรุนแรง มีความสามารถในการจัดการควบคุมตนเอง มีทักษะการดำเนินชีวิตที่พึ่งพาตนเองได้เหมาะสมกับวัย มีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
                             2.3.3   ด้านเจตคติ  รักและภูมิใจในความเป็นไทยและความเป็นพลเมืองอาเซียน ยอมรับความเหมือนและความแตกต่างกันระหว่างบุคคล เคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่น มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีน้ำใจช่วยเหลือแบ่งปัน มีความรับผิดชอบ มีวินัยในตนเอง มีจิตสาธารณะ ประหยัด อดออมและพอเพียง และเห็นคุณค่า ของการปฏิบัติตนให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

ครูปฐมวัย ผู้นำทางเด็กปฐมวัยให้เข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน
              ข้อมลดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถประมวลเป็นประเด็นที่ครูต้องดำเนินการเพื่อทำงาน กับเด็กปฐมวัยให้เข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน ได้ดังนี้
              1.   คุณลักษณะของครู ครูจะต้องเป็นแบบอย่าง ของคนดีที่เป็นที่ยอมรับของสากลเป็นตัวอย่างของผู้มีวัฒนธรรมไทย เปิดรับสิ่งที่ดีๆ ของชาติอื่น/คนอื่นเข้ามาสู่การบูรณาการ และปฏิบัติ นำสิ่งที่ดีของประเทศตนเองมาเผยแพร่ไปสู่ประเทศอื่น รู้จักศึกษาจุดเด่นและจุดด้อย  ของแต่ละชาติ เพื่อความเท่าทันในการทำงานร่วมกัน เท่าทันเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลง มีทักษะในการสื่อสารภาษาไทยได้ดี เข้าถึงภาษาสากลและภาษาของเพื่อนอาเซียน สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารหลากหลายรูปแบบเพื่อการเข้าถึงข้อมูล ไม่ย่อท้อต่อการพัฒนาปรับเปลี่ยน สนใจใฝ่รู้ แสวงหาวิชาใหม่ๆ เพื่อจะได้มีพลังในการพัฒนาเด็กให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์สำหรับการเป็นพลเมืองในประชาคมอาเซียน
              2.   ความรู้ของครู ต้องแสวงหาความรู้เกี่ยวกับอาเซียน เกี่ยวกับความเป็นมาของอาเซียน กิจกรรมหลักของอาเซียน ประเทศสมาชิก สถานที่ตั้งของแต่ละประเทศ การจัดการศึกษา การปกครอง ภาษา วัฒนธรรม การช่วยเหลือระหว่างกันของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ครูต้องมีความรู้ความเข้าใจในแต่ละประเทศ เพื่อจะได้มีฐานความรู้ในการที่จะเลือกสาระที่จะนำไปสู่การจัดประสบการณ์เรียนรู้ให้แก่เด็กได้สอดคล้องกับวัย
              3.   หลักสูตรสถานศึกษา ครูต้องศึกษาทบทวนหลักสูตรสถานศึกษา และบูรณาการ เรื่อง อาเซียนศึกษา เข้าไปในหลักสูตร เริ่มตั้งแต่ ปรัชญา วิสัยทัศน์ ไปตามลำดับ ให้มีข้อความที่จะสื่อสารถึงการให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียน
              4.   การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ถ้าสถานศึกษาใช้กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม มีกำหนดหน่วยการเรียนรู้ไว้แล้ว อาจจะจัดเป็นหน่วยการเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียนศึกษา หรือบูรณาการไปในหน่วยต่างๆ ที่กำหนดไว้แล้ว โดยอาจจะใช้เพลง การละเล่น นิทาน ของแต่ละชาติเข้ามาบูรณาการในหน่วยการเรียนรู้ที่ได้กำหนดไว้อยู่แล้ว ถ้าสถานศึกษานำนวัตกรรมทางการศึกษาปฐมวัยมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ก็อาจจะจัดเป็นกิจกรรมบูรณาการในกิจกรรมประจำวันตามกำหนดของนวัตกรรม เดือนละประเทศ การกำหนดสาระที่ควรเรียนรู้ และจัดกิจกรรม การใช้สื่อและการประเมินผล ต้องคำนึงถึงทั้งวัยและความแตกต่างระหว่างบุคคล
                    การนำสาระมาพูดคุยกับเด็ก ความลึกของข้อมูลเป็นไปตามวัยของเด็ก อาจจะเริ่มจากเพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆ ประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา เช่น
                    ภาคเหนือ                                เมียนมา/พม่า
                    ภาคใต้                                    มาเลเซีย
                    ภาคตะวันตก                            พม่า/เมียนมา
                    ภาคตะวันออก                          กัมพูชา/เขมร
                    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ           ลาว เขมร/กัมพูชา
                    ภาคกลาง                                พิจารณาลำดับโดยดูสถานศึกษามีการกล่าวถึงประเทศใดบ่อยๆ หรือ ประเทศที่มีภาษา และวัฒนธรรมใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น ลาว มาเลเซีย หรือ ประเทศที่มีพื้นที่เป็นเกาะ หรือ ประเทศที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดทะเล/ไม่ติดทะเล
                    ครูที่สอนจะวินิจฉัยได้ดีที่สุดว่าจะเลือกอย่างไร การพิจารณาร่วมกันในแต่ละระดับชั้นจะช่วยให้การสอนไปในทิศทางเดียวกัน จัดสาระและกิจกรรมได้เหมาะสมกับวัย และได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำงานให้ได้สำเร็จ รายละเอียดต่อไปนี้จะเป็นแนวทางปฏิบัติหนึ่งของ ครูนฤมล  เนียมหอมที่ได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย ในปีการศึกษา 2556

หน่วยหนูน้อยอาเซียน


ระดับชั้น            
             อนุบาล 3 ขวบ – อนุบาลปีที่ 2
ระยะเวลาเรียน                  1 สัปดาห์
จุดประสงค์                      1. เพื่อให้เด็กรู้ว่าประเทศไทยเป็นชาติหนึ่งในสมาชิกอาเซียน
                                     2. เพื่อให้เด็กรู้จักและยอมรับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากตน

สาระการเรียนรู้
              1.   สาระที่ควรเรียนรู้                                                                                                 ผู้สอน  ครูนฤมล  เนียมหอม

อนุบาล 3 ขวบ อนุบาลปีที่ 1 อนุบาลปีที่ 2
1 ) ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยชาติสมาชิก 10 ชาติ และไทยเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกอาเซียน
2) วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในอาเซียนมีความแตกต่างกัน
1) ชาติในอาเซียน (ไทย ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์)
2) สัญลักษณ์อาเซียน (ต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกัน-ประเทศสมาชิกรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน)
3) ความแตกต่างของวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในอาเซียน (ธงชาติ เครื่องแต่งกาย ภาษา ฯลฯ)
1) ชาติในอาเซียน (ไทย ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์)
2) คำขวัญอาเซียน (หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม)
3) สัญลักษณ์อาเซียน (ต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกัน-ประเทศสมาชิกรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน)
4) ความแตกต่างของวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในอาเซียน (ธงชาติ เครื่องแต่งกาย ภาษา อาหาร สถานที่สำคัญ ฯลฯ)
5) อาชีพเสรีในอาเซียน (แพทย์ ทันตแพทย์ นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก พยาบาล นักสำรวจ)

              2.   ประสบการณ์สำคัญ
                   1)   การฟังเรื่องราว นิทาน คำคล้องจอง คำกลอน
                   2)   การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น
                   3)   การรับรู้ความรู้สึก ความต้องการของตนเองและผู้อื่น
                   4)   การเล่นและทำงานร่วมกับผู้อื่น
                   5)   การอ่านและการเขียนผ่านประสบการณ์ที่สื่อความหมายกับเด็ก

แผนการจัดประสบการณ์ชั้นอนุบาลปีที่ 1/1  ศูนย์เด็กปฐมวัยต้นแบบ โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ ปีการศึกษา 2556
หน่วยหนูน้อยอาเซียน เรื่อง ภาษาอาเซียน
วันอังคารที่  17  ธันวาคม  พ.ศ.  2556

กิจกรรมเสริมประสบการณ์                                                                                                       ผู้สอน  ครูนฤมล  เนียมหอม

จุดประสงค์ สาระการเรียนรู้ กิจกรรม สื่อ การประเมินผล
สาระที่ควรเรียนรู้ ประสบการณ์สำคัญ
เด็กพูดทักทายด้วยภาษาของชาติสมาชิกอาเซียนได้อย่างน้อย 2 ชาติ เนื้อหา
คำพูดทักทายของคนในชาติสมาชิกอาเซียน
ไทย–สวัสดี
ลาว–สบายดี
กัมพูชา–ซัวสเดย
มาเลเซีย–ซาลามัตดาตัง
เวียดนาม-ซินจ่าว
บูรไน-ซาลามัตดาตัง
ฟิลิปปินส์-กูมุสตา
เมียนมาร์-มิงกะลาบา
อินโดนีเซีย-ซาลามัตเชียง
สิงคโปร์-หนีห่าว/ฮาลโลละห์แนวคิด
ชาติสมาชิกอาเซียนมีความต่างกันในเรื่องภาษาพูด
1. การร้องเพลง
2. การอ่านที่สื่อความหมายกับเด็ก
3. การเลียนแบบการกระทำและเสียง
ขั้นนำ
1. ครูร้องเพลงสวัสดี และสนทนากับเด็กว่าชาติต่างๆ ในอาเซียนมีคำพูดสวัสดีต่างกัน
ขั้นสอน
2. ครูเชิญผู้ปกครองที่พูดภาษามาเลเซียและเมียนมาได้มาพบกับเด็กๆ ให้เด็กสังเกตชุดที่ผู้ปกครองใส่และทายว่าเป็นคนชาติใด (หากเด็กตอบไม่ได้ ครูชี้แนะด้วยการชี้ให้ดูภาพเด็กน้อยอาเซียนที่เรียนเมื่อวันจันทร์)
3. ให้เด็กกล่าวทักทายผู้ปกครองด้วยภาษาไทย ผู้ปกครองทักทายเด็กด้วยภาษามาเลเซีย และภาษาเมียนมา ให้เด็กๆ หัดพูดตาม
4. ครูอ่านหนังสือ เรื่อง สวัสดีอาเซียนให้เด็กฟัง ให้เด็กพูดคำทักทายของแต่ละชาติตามครูขั้นสรุป
5. ให้เด็กกล่าวคำสวัสดีโดยเลือกใช้ภาษาที่ตนประทับใจทีละคน โดยวนมากล่าวคนละ 2 รอบ
1. เพลงสวัสดี
2. ผู้ปกครองแต่งกายชุดประจำชาติมาเลเซีย และเมียนมา
3. หนังสือเรื่อง สวัสดีอาเซียน
สังเกตการกล่าวคำทักทายของเด็ก

หมายเหตุ            เพลง “สวัสดี”     สวัสดีเธอจ๋าสวัสดี   ชื่นชีวียิ้มแย้มแจ่มใส   มาพบกันวันนี้แสนดีใจ   รื่นเริงไปร้องรำให้สำราญ

แผนการจัดประสบการณ์ชั้นอนุบาลปีที่ 1/1  ศูนย์เด็กปฐมวัยต้นแบบ โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ ปีการศึกษา 2556
หน่วยหนูน้อยอาเซียน เรื่อง ธงอาเซียน
วันศุกร์ที่  20  ธันวาคม  พ.ศ.  2556

กิจกรรมเสริมประสบการณ์                                                                                                           ผู้สอน  ครูนฤมล  เนียมหอม

จุดประสงค์ สาระการเรียนรู้ กิจกรรม สื่อ การประเมินผล
สาระที่ควรเรียนรู้ ประสบการณ์สำคัญ
เด็กบอกความหมายของสัญลักษณ์ของธงอาเซียนได้ เนื้อหา
ธงอาเซียนมีสัญลักษณ์คือ ต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกันไว้ หมายถึงประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแนวคิด
ประเทศในอาเซียนมีความแตกต่างกันหลายเรื่องแต่ก็รวมกันได้เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
1. การเชื่อมโยงรูปแบบกับภาพสัญลักษณ์
2. การพูดสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ
ขั้นนำ
1. ครูทบทวนชื่อชาติสมาชิกอาเซียนร่วมกันกับเด็ก และให้เด็กร่วมกันบอกว่าชาติสมาชิกมีความต่างกันในเรื่องใดบ้าง
ขั้นสอน
2. ครูนำฟางข้าว 10 เส้นมาให้เด็กดู โดยให้ดูทีละเส้นและครูพูดว่าเส้นนั้นๆ แทนประเทศอะไร จับมัดรวมกัน นำธงอาเซียนมาให้เด็กดู ให้เด็กพูดเปรียบเทียบฟางที่มัดรวมกันกับธงอาเซียน
3. ให้เด็กบอกชื่อสีที่ธง โดยครูอธิบายความหมายของสัญลักษณ์และสีที่ธงให้เด็กฟังขั้นสรุป
4. ให้เด็กบอกความหมายของสัญลักษณ์ของธงอาเซียน
1. ฟางข้าว
2. ธงสัญลักษณ์อาเซียน
สังเกตการตอบคำถามของเด็ก

หมายเหตุ            ธงอาเซียน มีสัญลักษณ์คือ ต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกันไว้ หมายถึงประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง   สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า   สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

 แผนการจัดมุมประสบการณ์และเกมการศึกษา ชั้นอนุบาล 1/1 ศูนย์เด็กปฐมวัยต้นแบบ โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ ปีการศึกษา 2556
หน่วยหนูน้อยอาเซียน
วันที่ 16-20 ธันวาคม  พ.ศ. 2556

ผู้สอน  ครูนฤมล  เนียมหอม

มุมหนังสือ
มีหนังสือที่จัดไว้ในกล่องจำนวน 20 กล่อง  หนังสือที่จัดไว้ที่ชั้นโชว์หนังสือประกอบด้วย
มุมบ้าน
1.       หนูน้อยอาเซียน
2.       สวัสดีอาเซียน
3.       อาหารอาเซียน
4.       ดอกไม้อาเซียน
5.       หายไวไวนะ (อาหารอาเซียน)
6.       เที่ยวทะเล (ทะเลสวยในอาเซียน)
7.       สวัสดีปีใหม่ (วันปีใหม่ในอาเซียน)
8.       เที่ยวบ้านเพื่อน (สถานที่ในอาเซียน)
9.       กุ๋งกิ๋งเที่ยวไทย
10.    กุ๋งกิ๋งเที่ยวลาว
11.    กุ๋งกิ๋งเที่ยวเวียดนาม
12.    ธงนานาชาติ
สิ่งต่างๆ ที่จัดไว้ประกอบด้วย
1.       ชุดประจำชาติเด็กน้อยอาเซียน
2.       ตุ๊กตาผ้า
3.       กระจก
4.       จาน ชาม ช้อนส้อม ครก ชุดกาน้ำชา ตู้เย็น
5.       ขวดเครื่องปรุง /ขวดของใช้ในบ้าน/ขวดยา
6.       ของเล่นอาหารจำลอง
7.       โปสเตอร์ภาพอาหารอาเซียน
มุมของเล่น มุมบล็อก
สิ่งต่างๆ ที่จัดไว้ประกอบด้วย
1.       เลโก้
2.       พีระมิดเรียงลำดับขนาด
3.       รูปเรขาคณิตทรงกระบอกเรียงลำดับความสูง
4.       เกมจับคู่ตัวอักษรไทย / อังกฤษ
5.       ชุดร้อยลูกปัดรูขนาดเล็ก
6.       ชุดจับคู่ตัวเลขกับจำนวน
7.       ภาพตัดต่อโฟมยาง 12 ชิ้น (เปลี่ยนเป็นภาพนกฮูก)
สิ่งต่างๆ ที่จัดไว้ประกอบด้วย
1.       บล็อกไม้ขนาดมาตรฐาน
2.       บล็อกไม้ขนาดเล็ก ชุดสร้างปราสาท
3.       ท่อนไม้รูปทรงอิสระ
4.       ของเล่นประกอบ ได้แก่ ตุ๊กตาสัตว์นุ่มนิ่ม รถไม้ชุดก่อสร้าง ตุ๊กตาแม่วัว/ลูกวัว ตุ๊กตาคนตัวเล็ก ตุ๊กตาสัตว์ ต้นไม้
5.       โปสเตอร์ภาพสถานที่สำคัญของชาติอาเซียน


แผนการจัดมุมประสบการณ์หน่วยหนูน้อยอาเซียน (ต่อ)

มุมวิทยาศาสตร์ เกมการศึกษา
สิ่งต่างๆ ที่จัดไว้ประกอบด้วย
1.       แว่นขยาย
2.       กล้องส่องทางไกล
3.       กล้องคาไลโดสโคป
4.       เมล็ดพืช
5.       เปลือกหอย
6.       ตาชั่งสองแขน
7.       หนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
8.       กล่องใส่เมล็ดถั่วแดง ถั่วแดงหลวง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วดำ และถั่วเหลือง
9.       โปสเตอร์ภาพดอกไม้อาเซียน
1.       เกมจับคู่ภาพธงชาติสมาชิกอาเซียน
2.       เกมจับคู่ภาพดอกไม้อาเซียน
3.       เกมจับคู่ภาพกับคำชาติในอาเซียน
4.       เกมภาพตัดต่อหนูน้อยอาเซียน ชุด 1
5.       เกมภาพตัดต่อหนูน้อยอาเซียน ชุด 1

สรุป
              การทำความเข้าใจอาเซียน ไม่ใช่ เพียงการจัดบอร์ด เหมือนๆ กันทั้งประเทศ ปักธงชาติ  แต่งกายประจำชาติของแต่ละชาติ รู้จักกับอาหาร ดอกไม้ การกล่าวคำทักทาย เท่านั้น มีอะไร มากกว่านั้นที่จะสร้างให้คนรักชาติ รักภูมิภาค ร่วมมือกันพัฒนา ครูควรจะพัฒนาเด็กให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่ทำไปตามกระแส มีอะไรใหม่เข้ามาคิด เหมาะสมแล้วจึงทำ โดยนำไปบูรณาการกับสิ่งที่ปฏิบัติอยู่เดิม ไม่ใช่เลิกสิ่งเดิมใช้สิ่งใหม่ แต่ใช้ปรับ – พัฒนา ด้วยการบูรณาการไม่ว่าทางสถานศึกษาจะใช้แนวคิด หรือนวัตกรรมทางการศึกษาปฐมวัยใดทุกอย่างยังคงดำเนินไปได้โดยครูต้องมียุทธศาสตร์ในการนำอาเซียนเข้ามาบูรณาการสรุป

บรรณานุกรม
              คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต. 2557. การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน. กรุงเทพมหานคร : คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
              สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2553 – 2554. บทสรุปสำหรับผู้บริหารท เรื่อง การพัฒนามาตรฐานและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาโรงเรียนสู่ประชาคมอาเซียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (เอกสารอัดสำเนา).
              สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2547. มาตรฐานการศึกษาของชาติ. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ.

(บทความที่ 1 ชุดที่ 1)