เรื่อง พัฒนาภาษาไทยสำหรับเด็กปฐมวัย

พัฒนาภาษาไทยสำหรับเด็กปฐมวัย

รศ.ดร.จีระพันธุ์  พูลพัฒน์  (พ.ศ. 2548)

                   ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย ภาษาเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะช่วยให้การจัดประสบการณ์ประสบความสำเร็จตามที่ได้วางเป้าหมายไว้ ภาษามีความจำเป็นสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเด็กจะต้องได้รับการพัฒนาภาษา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก และการพัฒนาภาษาให้แก่เด็กโดยเฉพาะภาษาไทย ควรจะให้มีความสอดคล้องต่อเนื่องกันจากหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยไปสู่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                   การพัฒนาภาษาไทยให้แก่เด็กปฐมวัย ต้องเน้นให้บูรณาการโดยมีความมุ่งหมายหลักในการพัฒนาทักษะต่างๆสอดแทรกเข้าไปในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ให้แก่เด็ก โดยให้เด็กได้พัฒนาทักษะในการฟัง การดู การพูด การอ่านและการเขียน รู้หลักเกณฑ์ทางภาษา เกิดค่านิยมโดยเห็นความสำคัญ ความงดงาม ซาบซึ้ง รักการอ่าน รู้จักการแสวงหา และมีความสามารถในการจัดการที่จะนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์
                   เพื่อให้การจัดประสบการณ์ทางภาษามีความเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กครูมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าใจพัฒนาการของเด็กปฐมวัยและพัฒนาการภาษาของเด็กปฐมวัย

                   พัฒนาการของเด็กปฐมวัย
Eliason and Jenkins (1981) ได้นำเสนอพัฒนาการของเด็กปฐมวัยวัย 3 – 6 ปี ไว้ดังนี้
                   เด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าท้ายครูและผู้ปกครองที่จะทำความรู้จักเด็กและช่วยให้เด็กได้พบกับสิ่งที่ต้องการ ข้อมูลที่ได้จากการสังเกตเด็กเป็นจำนวนมากก็พอจะให้แนวทางทั่วๆ ไปว่าจะคาดหวังอะไรได้จากเด็ก แต่ก็ไม่สามารถให้ความชัดเจนของเด็กแต่ละคนว่าควรจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามเด็กทั่วๆ ไป จะมีส่วนที่เหมือนกันมากเท่าความแตกต่าง และทั้งครูและผู้ปกครองที่จะต้องเข้าไปสอนเด็กหรือรู้จักเด็ก เข้าใจเด็ก ควรจะรู้ว่าจะสอนอย่างไร และมีความอดทนมากขึ้นและมีความรักให้แก่เด็ก
                   ความต้องการสากลของเด็ก 2 อย่างคือ
                        1)   ต้องการความรัก ความพอใจ การยกย่อง ความซาบซึ้ง ความห่วงใยและการดูแล เอาใจใส่ ติดตามด้วยการสอน
                        2)   ต้องการครูซึ่งมีการเตรียมการอย่างดี และใช้อุปกรณ์มากมายให้ประสบการณ์ตรง และใช้สื่อโสต

อายุ 3 ขวบ (The 3-year-old)
                   เด็ก 3 ขวบ อาจจะอยู่ในประเภทเด็กเล็กหรือไม่ สถานรับเลี้ยงเด็กก็ป (Day-Care Program) มักจะรวมเด็กอายุ 3 ขวบเข้าไปด้วย แต่โรงเรียนเด็กเล็ก (nursery school) บางโรงเรียนไม่ยอมรับเด็กอายุ 4 ขวบ บางแห่งรับเด็ก 3 และ 4 ขวบเข้าไปอยู่ในโปรแกรมเดียวกัน บางครั้งก็รับ 3 และ 4 ขวบ แต่แยกกลุ่มเรียน แต่อย่างไรก็ตาม 3 และ 4 ขวบ ก็มีความแตกต่างกัน

                   ลักษณะทางร่างกาย (Physical Characteristics) เด็กอายุ 3 ขวบสามารถเดินและวิ่งได้  แต่การประสานสัมพันธ์ก็จะลดถอยเป็นบางครั้ง กระโดดโลดเต้น กระโดดข้าม และทักษะสำหรับพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ ซึ่งต้องมีความสมดุลและความคล่องแคล่วว่องไว ก็เป็นจุดที่ทำให้เด็ก เกิดความยุ่งยาก เมื่อพัฒนาการของกล้ามเนื้อใหญ่ต้องมาก่อนพัฒนาการกล้ามเนื้อย่อย จึงต้องการโอกาสในการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่มากกว่ากล้ามเนื้อย่อย อย่างไรก็ตาม เด็กชอบทำสิ่งต่างๆ โดยการใช้มือของตนซึ่งอาจจะดูทำได้ไม่ดีและวุ่นวาย ต้องการการช่วยเหลืออย่างมาก เพราะยังขาดการประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อย่อย เด็กจะชอบกิจกรรมทางด้านดนตรีและชอบในการตอบสนองโดยการใช้นิ้วมือก็ช่วยทำให้เกิดความรื่นรมย์อย่างมากสำหรับเด็ก 3 ขวบ ติดตามด้วยนิทานต่างๆ โคลงกลอน หรือสิ่งอื่นๆ ที่ควรจะอธิบายได้ด้วยการใช้ร่างกายและการเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์

                   ลักษณะทางสติปัญญา (Intellectual Characteristics) เด็กอายุ 3 ขวบมีช่วงความสนใจสั้น  ดูเหมือนกับว่าจะไม่สามารถอยู่กับกิจกรรมใดได้นานกว่า 10 นาที กิจกรรมจะแตกต่างกันออกไปและต้องเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ สลับสับเปลี่ยนเรื่อง ควรจัดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วม ในเมื่อเด็กยังไม่สามารถทำอะไรที่เป็นแนวคิดนามธรรมได้ การสอนต้องเป็นรูปธรรม ง่าย และเป็นพื้นฐานเด็กจะอยากรู้ในสิ่งที่เป็นความจริง คำถามของเขาก็จะไม่ค่อยชัดเจน จะชอบโลกของการเพ้อฝัน และก็จะคิดจินตนาการมาก เพราะฉะนั้นเด็กต้องการโอกาสในการที่จะทำอะไรแบบแสร้งทำในขณะเดียวกันก็ต้องการความจริงและการเปิดเข้าสู่ความจริง
                   เด็กอายุ 3 ขวบต้องการเวลา ความอดทน และต้องการรูปแบบของภาษาที่มีคุณภาพเพื่อจะทำให้ไวยากรณ์และการพูดออกเสียงชัดเจน เด็กวัย 3 ขวบคนหนึ่ง เห็นน้องสาวมีผมเป็นลอน เป็นครั้งแรก จะตะโกนออกมาว่า “น้องมีลอนที่ผม”
                   เด็กวัยนี้จะชอบการพูดคุย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับสิ่งที่ตนสนใจ ถึงแม้ว่าครูจะพูดถึงสิ่งอื่นๆ ก็ตาม เด็กวัย 3 ขวบชอบเรียนคำใหม่ เด็กคนหนึ่งชอบพูดคำว่า “เป็นพิเศษเฉพาะคนเดียว (peculiar)“ เมื่อถามว่าหมายความว่าอย่างไร “หมายถึงบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างออกไป“ การใช้คำใหม่ แนวคิดของเด็กจะนำไปสู่พัฒนาการของคำใหม่ เด็กคนหนึ่งเมื่อพ้นจากปั๊มน้ำมันบอกว่าคนที่ปั๊มชอบเธอ เธอบอกพ่อว่า “คนเติมน้ำมันชอบหนู ดูซิเขาโบกมือให้หนูด้วย”
                   ไม่ว่าจะสอนอย่างไร เด็ก 3 ขวบมีสิทธิที่จะพัฒนาความเข้าใจที่ผิดไปได้ เด็กจะชอบนิทาน การร้องเพลง และกิจกรรมศิลปะ

                   ลักษณะทางสังคม (Social Characteristics) เด็กอายุ 3 ขวบจะเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง เป็นจุดสำคัญ เด็กเล่นอย่างมีความสุขโดยตนเอง แต่ก็สนใจในบุคคลอื่น และจะพบว่าเด็กพวกนี้ ชอบเล่นข้างเด็กคนอื่นๆ เป็นการเล่นคู่ขนาน ไม่ค่อยจะเข้าร่วมในการเล่นระหว่างกันและการเล่นร่วมมือกันมากนัก และการมีส่วนร่วมกับผู้อื่นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เด็กพอใจในการที่จะได้อยู่ใกล้ชิด กับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะกับครอบครัว เพราะว่าผู้ใหญ่เป็นแหล่งที่สร้างความมั่นคงได้ดีที่สุด เด็กจะเล่นรวมกันได้ทั้งสองเพศ เด็กวัยนี้ไม่ค่อยจะมีเพื่อนสนิท (best friend) แต่จะชอบเล่นกับเพื่อนข้างๆ

                   ลักษณะทางอารมณ์ (Emotional Characteristics) เด็ก 3 ขวบกระตือรือร้นในการที่จะทำอะไรเอาใจผู้ใหญ่ แต่จะขึ้นอยู่กับการยอมรับของตน เด็กต้องการความรักและการชมเชย แต่การแสดงออกจะมีทั้งความรู้สึกทั้งด้านบวกและด้านลบ จะร้องไห้ได้ง่ายมาก และจะพูดว่า “ไม่” เป็นคำที่เด็กชอบ จะอ่อนไหวง่ายกับความรู้สึกของบุคคลอื่น และจะพัฒนาความเป็นอิสระ และสัจจการแห่งตน เด็กวัย 3 ขวบต้องการความอดทนมาก ต้องการความเข้าใจและการยอมรับ ต้องการครูและผู้ใหญ่ กระตุ้นให้ทำสิ่งต่างๆ สำหรับตนเอง

อายุ 4 ขวบ (The 4-year-old)
                   เด็กวัย 4 ขวบจะมีความกระตือรือร้น จากความกระตือรือร้นทำให้รีบร้อนในการทำสิ่งต่างๆ  ชอบให้มีเพื่อนไปด้วย ถึงแม้จะมีการต่อล้อต่อเถียงกันเกิดขึ้นในการแสดงความเป็นเจ้าของและการแบ่งของเล่น จะเป็นอิสระจากผู้ใหญ่มากกว่าตอนอายุ 3 ขวบ และลงมือทำงานหลายๆ อย่างได้ด้วยตนเอง พัฒนาการทางด้านร่างกายและสติปัญญาจะก้าวไปไกลกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเด็ก อายุ 3 ขวบ โรงเรียนเป็นส่วนสำคัญสำหรับเด็กอายุ 4 ขวบที่โชคดีได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพเด็กจะมีชีวิตชีวาและท้าทายให้เข้าไปดูแลและสอน

                   ลักษณะทางร่างกาย (Physical Characteristics) เด็กอายุ 4 ขวบจะมีความคล่องแคล่วว่องไว และใช้กล้ามเนื้อใหญ่ในการกระโดดโลดเต้น วิ่งแข่งโยนลูกบอล ปีน และกระโดดแบบควบม้า จะเริ่มแสดงทักษะทางด้านร่างกายใหม่ๆ และใช้ความเป็นตัวของตัวเอง บางครั้งเด็กอายุ 4 ขวบ จะมีความก้าวร้าวทางกายและอ้างสิทธิ์ จะแก้ปัญหาด้วยกำลังมากกว่าการใช้คำพูด จัดการเสื้อผ้า ได้เองถ้าง่าย กล้ามเนื้อเล็กพัฒนาเพียงพอสำหรับการหยิบเครื่องมือง่ายๆ เช่น ที่เจาะรูกระดาษ และกรรไกร

                   ลักษณะทางด้านสติปัญญา (Intellectual Characteristics) เด็กอายุ 4 ขวบจะเริ่มรู้จักนามธรรม และเริ่มมีเหตุผล แต่การคิดและการอธิบายจะยังมีความเข้าใจผิดบ่อยๆ เด็กคนหนึ่งขณะสังเกตพ่อโกนผม ถามว่า “พ่อ ทำไมถึงไม่มีผม” เด็กคนนี้ได้ยาแอสไพรินมาสำหรับนิ้วที่เจ็บ และได้รับคำบอกเล่าว่า “นิ้วจะรู้สึกดีขึ้นทันทีที่แอสไพรินทำงาน“ เวลาผ่านไปสักครู่ เด็กถามว่า “เมื่อไหร่ยาแอสไพรินจึงจะไปถึงนิ้วของฉัน”
                   เด็กชอบที่จะเรียนรู้คำใหม่ และชอบเล่นกับคำและเสียง จะพูดอะไรที่เกินความจริง และมีอารมณ์ขันกับการพูดเหลวไหล เด็กอายุ 4 ขวบ จะพยายามพูดเป็นประโยค และบางที ก็เล่าเรื่องยาวๆ โดยมีคำพูดต่างๆ ได้ทั้งๆ ที่จะมีไวยากรณ์และการออกเสียงผิดๆ อยู่บ้าง เด็กวัยนี้ จะถามคำถามมากมายและมีช่วงความสนใจสั้น โลกของเรื่องสมมติ ยังเป็นที่ต้องการและบางครั้ง มีความยุ่งยากในการที่จะแยกแยะความจริงและเรื่องที่เพ้อฝัน เด็ก 4 ขวบจะสนใจและซักถามเกี่ยวกับคน ประสบการณ์ใหม่ สถานที่ เหตุการณ์ วิทยาศาสตร์ โลก งานศิลปะเริ่มแสดงออก และมีความหมายมากขึ้น ชอบนิทานและเพลง และชอบพูดเกี่ยวกับเรื่องและเพลงที่นึกได้ สำหรับความต้องการทางด้านสติปัญญา เด็กต้องการสิ่งที่เป็นรูปธรรม ความรู้สึก ประสาทสัมผัส และประสบการณ์การเรียนรู้โดยตรง ต้องการโอกาสในการสำรวจ ตรวจสอบ และการพูด

                   ลักษณะทางสังคม (Social Characteristics) เด็กอายุ 4 ขวบมีความสนใจในคนที่อายุ วัยเดียวกัน และเล่นเป็นกลุ่มมากขึ้น เด็กชายมีแนวโน้มที่จะเล่นกับเพศเดียวกัน ถึงแม้ทั้งสองเพศ จะเล่นได้กับทั้งสองเพศ จะชอบเล่นแสร้งทำและเล่นละคร เมื่อไปสังเกตการสอนในโรงเรียนอนุบาล ก็จะพบว่าสถานที่เล่น เช่น มุมบ้าน เด็ก 4 ขวบจะเล่นในบทบาทของผู้ใหญ่ที่คุ้นเคย ในสิ่งแวดล้อมประจำวัน เด็กอายุ 4 ขวบจะเล่นร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น เริ่มพูดออกมาแทนการตี แต่ก็อาจจะยังคงมีความก้าวร้าวทางกาย มีความสะเพร่า อาจจะเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ ดื้อรั้นหรือไม่สุภาพ และในอีก ด้านหนึ่งจะให้ความร่วมมือ เป็นมิตรและง่ายที่จะทำงานด้วย เด็กอายุ 4 ขวบหลายคนยอมรับการผลัดเปลี่ยนกันทำงาน การแบ่งกันเล่น และยอมรับข้อตกลง แต่การเตือนก็ยังจำเป็น

                   ลักษณะทางอารมณ์ (Emotional Characteristics) เด็กอายุ 4 ขวบ ชอบทดสอบว่า อะไรที่จะควบคุมได้ แต่ผู้ใหญ่ควรจะฉลาดที่จะติดตามดู ความมั่นใจมีสูงขึ้น จะพูดคุย เกี่ยวกับตนเองและครอบครัว บางครั้งจะไม่มีความอดทนเกี่ยวกับตนเองและคนอื่นๆ และก็จะไม่ชอบรอ อารมณ์จะไม่คงที่ บางเวลาก็จะอารมณ์รื่นเริงดีได้สักครู่หนึ่ง และอีกสักครู่ก็จะทะเลาะกัน ต้องการความอดทน ความอ่อนโยนและความเมตตาจากผู้ใหญ่ แต่ก็ต้องการความมั่นคง เด็กอายุ 4 ขวบ จะมีความมั่นใจในตนเองและโลกของเขา
                   เด็กจะเริ่มพัฒนาความกลัวและความกระวนกระวาย ต้องการความมั่นคง และการดูแลจากผู้ใหญ่ในการเข้าไปยังสิ่งใหม่ๆ

อายุ 5 ขวบ (The 5-year-old)
                   เด็กอายุ 5 ขวบจะน่ารัก ง่ายที่จะอยู่ด้วยและทำงานด้วย และจะดูสงบ บางทีจะดูว่ามีวุฒิภาวะดีกว่าเด็กที่โตกว่า อาจจะเป็นเพราะว่าเด็กต้องพยายามอย่างมากในการที่จะเลือกสิ่งที่ถูกและทำให้คนพอใจ เด็กเหล่านี้จะอยู่ในกรอบมากขึ้น และถึงแม้ว่าจะชอบการแสร้งทำก็พอใจโลกที่แท้จริง และกระวนกระวายใจที่จะเถียงคนอื่นเกี่ยวกับความจริงและสิ่งที่เป็นจริง

                   ลักษณะทางร่างกาย (Physical Characteristics) กิจกรรมยังคงเน้นการเล่นชอบการเคลื่อนไหวและเสียง และชอบเกม ใช้กล้ามเนื้อใหญ่-เล็กได้คล่องแคล่ว และทำหลายสิ่ง หลายอย่างได้ด้วยตนเองดี จะเรียนรู้ในการผูกเชือกรองเท้า ติดกระดุมและรูดซิป ในวัยนี้เด็กจะทำงานได้ในช่วงยาวโดยใช้ดินสอและสีเทียน เด็ก 5 ขวบจะภูมิใจในทักษะที่ทำได้ใหม่ จะเรียนรู้และทำงานด้านกลไกได้ดีกว่าเด็ก 4 ขวบ การที่เด็กสามารถทรงตัวให้สมดุลได้ทำให้เตะบอล เดินเส้นตรง และแสดงความสนใจในการเล่นสเกต การเดินแถว การกระโดดเชือก และการขี่จักรยาน

                   ลักษณะทางสติปัญญา (Intellectual Characteristics) เด็ก 5 ขวบ ยังมีช่วงความสนใจสั้น  แต่ก็มีช่วงความสนใจที่เพิ่มขึ้น ยังคงช่างพูด เป็นประโยคยาวขึ้นและใช้ข้อความได้มากขึ้น ความสนใจ ที่เปลี่ยนไปคือ จะถามข่าว ไม่ใช่เพียงแค่การพูด แต่ว่าต้องการความเข้าใจด้วย เช่น “รากผมต้องการน้ำหรือไม่” เด็กวัย 5 ขวบจะถามด้วยความสงสัย คำถาม ข้อวิจารณ์และคำตอบจะชัดเจน รู้จักตัวอักษรมากขึ้น จำนวน และคำ และชอบแกล้งอ่านและเขียน จะกระหายใคร่รู้เกี่ยวกับความจริง แยกแยะ ความจริงจากสิ่งที่เพ้อฝันได้
                   เด็กสามารถแสดงความรู้สึกได้อย่างเปิดเผย เมื่อเด็กเห็นหิมะตกปกคลุมไปทั่วก็จะตะโกน ถามว่า “หิมะตกแล้ว แล้วเราก็ไม่มีหญ้าแล้ว”
                   เด็กจะมีความรู้สึกเกี่ยวกับระเบียบ (sense of order) ชอบงานที่กำหนดแน่นอนคิดแก้ปัญหาได้ดีขึ้น และคิดก่อนพูด จัดงานง่ายๆ ให้ได้ทำ รวมถึงให้ได้รับผิดชอบและโอกาสสำหรับการแก้ปัญหา ชอบเรื่องขบขัน มีกลลวง และตลก ระบายสีและวาดภาพโดยมีความคิดอยู่ภายใน และชอบนิทาน ร้องเพลง และคำประพันธ์

                   ลักษณะทางสังคม (Social Characteristics) เด็ก 5 ขวบจะดูเป็นมิตร ให้ความร่วมมือ และอยากจะทำให้คนพอใจ จะพอใจในการเล่นเป็นกลุ่ม 2-5 คน อยากจะมีเพื่อนสนิท สนใจเล่นละคร และเล่นสมมติ และมีข้อขัดแย้งในการเล่นเป็นกลุ่มน้อยจะเข้าสู่กรอบและก็จะวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนที่ไม่เข้ากรอบ

                   ลักษณะทางอารมณ์ (Emotional Characteristics) เด็ก 5 ขวบ จะมีบ้านเป็นศูนย์กลางและสนใจในความสัมพันธ์ของครอบครัว สนุกที่จะมาโรงเรียนแต่ก็ผูกพันกับบ้าน จะอายและรู้สึกขายหน้าง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อทำผิด ไม่ชอบให้ใครทำอะไรซ้ำๆ กับเขา การซ้ำแสดงว่าทำผิดจะระมัดระวังเกี่ยวกับการทำถูกและทำผิด มีอิสระ มีสัจจการแห่งตน เชื่อฟัง ต้องการที่พึ่ง มีความสุขภาคภูมิใจ และดูสงบ จะทำอะไรให้ผู้ใหญ่พอใจ จะคิดว่าครูคือผู้ที่ถูกต้องที่สุด รู้ทุกอย่าง จะมีความเชื่อและไว้วางใจผู้อื่น ภูมิใจในผลงานของตน แต่เมื่อโกรธ ก็จะใช้ถ้อยคำก้าวร้าว

อายุ 6 ขวบ (The 6-year-old)
                   เด็ก 6 ขวบจะคล่องแคล่ว เรียกร้องสิทธิ์ อยากจะทำสิ่งต่างๆ ชอบการผจญภัย อยากจะชนะ ทำดีที่สุด และบางเวลาท้าทาย อยากจะพิสูจน์ความเป็นอิสระของตนเองมากกว่า 5 ขวบ จะภูมิใจ ในทักษะที่ได้เรียนรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการอ่าน จะก้าวร้าวกว่าเด็ก 5 ขวบ การแสดงออกว่าตนเองมีอิสระ บางครั้งทำให้มีพฤติกรรมที่ผิดไป อยากเป็นนายตัวเอง และบางครั้ง ก็ทำเหมือนรู้ไปหมด

                   ลักษณะทางร่างกาย (Physical Characteristics) เด็ก 6 ขวบจะเป็นนักสำรวจและนักผจญภัย พลังของเขาไม่มีขีดจำกัด จะส่งเสียง ไม่ยอมหยุด (restless) ร่าเริง ในการเล่นจะเล่นปล้ำ แกว่ง กระโดด สร้าง เล่นลูกบอล วิ่ง ขี่จักรยาน 3 ล้อ เล่นเกมกลุ่ม ปีน และเล่นที่ห้อยโหนทั้งหลาย ความต้องการพัฒนากล้ามเนื้อเล็กและกล้ามเนื้อย่อยจะปรากฎขึ้น จะกระตือรือร้นในการเล่น จะเล่นจนเหนื่อยหอบ

                   ลักษณะทางสติปัญญา (Intellectual Characteristics) เด็ก 6ขวบ แนวคิดและความคิดจะเป็นไปในทางนามธรรมและความคิดที่ซับซ้อน ถึงแม้ว่าแนวคิดจะต้องเป็นการสอนในรูปธรรม  ความจำจะพัฒนาขึ้น พูดมาก ถามคำถามหลายคำถาม และเข้าใจคำยากได้ ขณะไปทัศนศึกษาวัยนี้จะพูดเสียงดังหนวกหู
                   ตัดสินใจไม่ค่อยได้เป็นลักษณะของเด็กวัยนี้ แต่ก็เรียนรู้ที่จะเลือกอย่างฉลาด ต้องการโอกาสที่จะได้ตัดสินใจ แต่การเลือกก็จะมีขอบเขต มีความตั้งอกตั้งใจและอยากรู้แต่ก็วอกแวกได้ง่ายช่วงความสนใจเพิ่มขึ้น เด็กเหล่านี้จะชอบอ่านและเขียน และก็ยังคงสนุกที่จะร้องเพลงและฟังนิทาน

                   ลักษณะทางสังคม (Social Characteristics) เด็กอายุ 6 ขวบ จะมีการแลกเปลี่ยนและทำกิจกรรมกับเพื่อนและเพื่อนก็มักจะเป็นเพศเดียวกัน ยังคงยึดตนเองเป็นศูนย์กลางและห่วงใยเกี่ยวกับตนเองและคนอื่นจะทำกับตนอย่างไร กิจกรรมกลุ่มเป็นที่นิยมมาก เด็กจะต้องการการยอมรับจากสังคมจากเพื่อน จะแบ่งของให้เพื่อนเพื่อให้เพื่อนยอมรับ เด็กบางคนนำอาหารกลางวันมาโรงเรียนอยากจะให้เพื่อนยอมรับก็จะแบ่งอาหารกลางวันให้เพื่อนโดยเฉพาะของหวาน แต่สัมพันธภาพของเด็กในวัยนี้ยังไม่คงที่ จะเล่นได้ดีกับเพื่อนคนหนึ่ง แต่ก็จะเปลี่ยนเพื่อนไปเรื่อยๆ
                   เด็กจะยืนยันสิทธิ์ของตนเองและก้าวร้าวในการเล่น และจะแข่งขันเห็นได้ชัด จะกระวนกระวายบ่อยๆ เพราะอยากจะชนะและเป็นคนแรก ถ้ากฎไม่เป็นไปตามความต้องการก็จะเข้าไปแก้ไขเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตน ต้องการการแนะนำในการเป็นผู้แพ้ที่ดี บางครั้งจะยียวน และดูไม่น่ารักกับคนอื่น อาจจะยังคงอยู่ในวัยที่จะเข้าสู่กรอบ และพยายามทำให้คนพอใจ พอใจการแสดงและการสมมติ แต่ก็พอใจการเล่นที่เป็นจริง

                   ลักษณะทางอารมณ์ (Emotional Characteristics) เด็ก 6 ขวบจะคุยฟุ้ง และก็จะต่อเติมเรื่องราวให้เกินจริง รู้ไปหมดทุกอย่าง และมักวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น จะตกใจได้ง่าย ทำอะไรแบบเชยๆ และบ่อยครั้งชอบแสดงออก จะพัฒนาความกลัวต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ทางครอบครัวและโรงเรียน เช่น จะไปโรงเรียนวันที่ 2 อาจจะบอกว่า “วันนี้จะเป็นวันที่หนาวสั่น อีกวันหนึ่งไหม” พอได้เสื้อหนาวจะบอกว่า “ไม่ได้หมายความว่าหนาว แค่หมายความว่าหนาวสั่นคือ น่าตกใจกลัว”
                   เด็กอาจจะมีวุฒิภาวะดีที่โรงเรียนและกับเพื่อนมากกว่าที่บ้าน ชอบคำชมเชยและการยอมรับ บางขณะจะน่ารัก ใจดี น่าคบ เวลาต่อมาอาจจะระเบิดเสียงร้องไห้แสดงความคับข้องใจ อิจฉาริษยา และก้าวร้าวทางกาย

พัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย
                   อรชา ตุลานันท์ (2547) ได้เขียนเรื่องพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย ไว้ดังนี้

อายุ พัฒนาการทางภาษา
  6  เดือน 1. ส่งเสียงอ้อแอ้
2. รู้จักชื่อตนเอง
3. หันหาเสียงคน
4. แยกเสียงที่เป็นมิตรกับเสียงโกรธออกจากกันได้
  12  เดือน 1.       พูดได้หนึ่งหรือสองคำ
2.       เข้าใจคำสั่งง่ายๆ หากมีภาษาท่าทางช่วย
3.       พูดตาม
4.       ตระหนักถึงคุณค่าทางสังคมของภาษา
  18  เดือน 1.       พูดได้ 5 – 20 คำ
2.       รู้จักคำถามเป็นส่วนใหญ่
3.       พูดคำหรือประโยคซ้ำๆ
4.       เข้าใจคำสั่งง่ายๆ
  24  เดือน 1.       รู้จักชื่อของสิ่งของที่อยู่รอบตัว
2.       ใช้คำบุพบทได้ 1 – 2 คำเป็นอย่างน้อย
3.       ประกอบคำ 2 คำ เพื่อสร้างเป็นประโยค
4.       พูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ประมาณ 2 ใน 3 ส่วน
5.       รู้จักคำศัพท์ประมาณ 150 – 300 คำ
  36  เดือน 1.       รู้จักคำศัพท์ประมาณ 900 – 1,000 คำ
2.       พูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ประมาณ 90 %
3.       เริ่มใช้คำกริยามากขึ้น
4.       สามารถบอกชื่อ เพศ อายุ ของตนได้
5.       เข้าใจคำถามที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมและสภาพแวดล้อมของตนเกือบทั้งหมด
6.       รู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกาย
อายุ พัฒนาการทางภาษา
  3 – 4  ปี 1.       พูดเสียงสระ เสียงวรรณยุกต์ และตัวสะกดได้ชัดครบทุกเสียงแต่เสียงพยัญชนะ ม น ห ย ค อ ว บ ก ป ท ต ล จ พ ง ด มีการพูดได้ไม่ชัดเจนบ้างและพูดไม่คล่อง
2.       พูดคำศัพท์ได้ประมาณ 900 – 1,500 คำ
3.       ใช้สรรพนามที่เป็นพหูพจน์ สรรพนามแทนเพศ คำนาม และคำกริยาได้
4.       พูดวลีหรือประโยคที่มีความยาว 3 คำขึ้นไป
5.       สนทนาได้ประมาณ 5 นาที
6.       มักถาม อะไร ใคร ที่ไหน ทำไม
7.       ใช้สันธาน และ
  4 – 5  ปี 1.       พูดเสียงสระ เสียงวรรณยุกต์ และตัวสะกดได้ชัดครบทุกเสียง แต่เสียงพูดพยัญชนะ ฟ และ ช ได้ชัดเจนขึ้น พูดไม่คล่องบางครั้ง
2.       พูดคำศัพท์ได้ประมาณ 1,500 – 2,000 คำ
3.       ใช้คำกริยา คำวิเศษณ์ คำลงท้าย คำอุทานได้
4.       พูดประโยคที่มีความหมายยาว 4 คำขึ้นไป และเป็นประโยคที่เป็นเหตุเป็นผล
5.       เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองและผู้อื่นได้โดยผู้ใหญ่ต้องพูดแนะเล็กน้อย
6.       ตอบคำถามง่ายได้ มักถาม เมื่อไร อย่างไร
7.       ใช้ แต่ เพราะว่า
  5 – 7  ปี 1.       พูดเสียงสระ เสียงวรรณยุกต์ และตัวสะกดได้ชัดครบทุกเสียง พูดเสียงพยัญชนะ ส ได้ชัดเจนขึ้น เสียง ร อาจยังไม่ชัด
2.       พูดคำศัพท์ได้ประมาณ 2,500 – 2,800 คำ
3.       ใช้คำกริยา คำสรรพนาม คำบุพบทได้ถูกต้อง
4.       พูดประโยคที่มีความยาว 5 – 6 คำขึ้นไปเป็นประโยคที่มีความซับซ้อนขึ้น และมักใช้ประโยคคำสั่ง
5.       พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ กับผู้อื่นได้อย่างสัมพันธ์กับเรื่องที่พูด

                   เมื่อครูได้ศึกษาพัฒนาการของเด็กปฐมวัยและพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัยแล้วจะได้นำมาเป็นฐานในการคิดกิจกรรมเพื่อพัฒนาภาษาให้แก่เด็ก โดยสามารถดำเนินการพัฒนาทักษะไปได้ตามลำดับจากง่ายไปยาก โดยเน้นการบูรณาการกับสาระที่ควรเรียนรู้อื่นๆ ตัวอย่างกิจกรรมต่างๆ มีดังนี้
                   1.   การฟัง จุดมุ่งหมายในการพัฒนาทักษะการฟัง เพื่อฝึกมรรยาทในการฟัง พัฒนาสมาธิและความสนใจให้เด็ก ให้เด็กมีความเข้าใจในสิ่งที่ฟังและสามารถสื่อสารความเข้าใจได้ด้วยวิธีการต่างๆ กิจกรรมเสนอแนะ เช่น
                        1.1   ฟังเสียงรอบตัว ให้เด็กหลับตา สงบ มีสมาธิ ฟังว่าได้ยินเสียงอะไรบ้าง แล้วบอกชื่อเสียงที่ได้ยิน
                        1.2   ฟังเสียงที่ครูจัดกระทำขึ้น ให้เด็กหลับตาหรือใช้ผ้าปิดตา สงบ มีสมาธิ ฟังเสียง แล้วบอกว่าได้ยินเสียงอะไร เช่น
                               1)   เทน้ำ/นม จากเหยือกใส่แก้ว
                               2)   ดื่มน้ำ/นม
                               3)   ปิดฝาครอบเครื่องปรุง
                               4)   ขยำกระดาษ ฉีกกระดาษ
                               5)   เขย่า ดีด สี ตี เป่า เครื่องดนตรี
                               6)   ฟังเทปบันทึกเสียงต่างๆ ฯลฯ
                        1.3   ฟังเทปเพลง นิทาน กลอน แล้วพูดคุยว่าเกี่ยวกับอะไร
                               1)   ฟังเพลงและทำท่าประกอบเพลง
                               2)   ฟังนิทานแล้วให้เดาเหตุการณ์ ตอบคำถามจากสิ่งที่ฟัง
                               3)   ฟังเสียงคล้องจองจากกลอน
                        1.4   ฟังคำสั่งแล้วปฏิบัติตาม เช่น กระโดด วิ่ง เดิน นั่งยอง ยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ หลับ แตะสิ่งของตามสั่ง ฯลฯ
                        1.5   ฟังเสียงที่นักเรียนตระเตรียมมา โดยให้นักเรียนเตรียมสิ่งที่ทำให้เกิดเสียง มาคนละ 1 ชิ้น (ครูเตรียมไว้เพิ่มเติมในกรณีที่นักเรียนไม่ได้นำมาจะได้มีสิ่งของร่วมกิจกรรมได้) ถึงเวลาทำกิจกรรมให้นักเรียนมานั่งเป็นวงกลม นักเรียนทุกคนเอาของที่จะทำให้เกิดเสียงอยู่ข้างหลัง ให้ทุกคนหลับตา พอครูแตะใครคนนั้นก็เคาะเสียง แล้วให้เพื่อนตอบว่าเป็นเสียงของอะไร ใครตอบถูกมาทำหน้าที่ครูต่อไป
                        1.6   ฟังเสียงคำบอกเสียงต้น เสียงท้ายและเสียงสระ
                   2.   การดู จุดมุ่งหมายในการพัฒนาทักษะการดู เพื่อฝึกให้เด็กมีความสนใจ สังเกต ติดตาม สิ่งที่ดู แล้วเข้าใจสิ่งที่ดู นำมาสื่อสารได้ด้วยการพูดเล่าเรื่องราว การวาดภาพ การประดิษฐ์ การเขียนถ้าทำได้ หรือทำกิจกรรมต่อเนื่องจากสิ่งที่ดู กิจกรรมเสนอแนะ เช่น
                        2.1   แยกสิ่งของ แยกประเภทและจัดกลุ่มได้
                               1)   สิ่งของที่จม หรือลอย ทดลอง สังเกต บันทึกสิ่งที่ได้สังเกต และนำมาเล่าให้เพื่อนฟังได้
                               2)   สิ่งของที่มีสารแม่เหล็กและไม่มีสารแม่เหล็ก นำวัสดุต่างๆ มาทดลอง สังเกตว่าของสิ่งใดที่แม่เหล็กดูดและไม่ดูด แยกกลุ่มและสรุปรายการสิ่งของตามที่ได้แยกกลุ่มไว้
                               3)   สิ่งของที่แข็งหรือนุ่ม ครูเตรียมอุปกรณ์ เช่น ขนนก ก้อนกรวด ฯลฯ นำมาทำกิจกรรมรวมกลุ่มใหญ่ ให้เด็กสังเกตและแยกประเภท บอกเหตุผลในการแบ่งกลุ่ม แล้วให้หาสิ่งของจากสิ่งแวดล้อมมาจัดกลุ่มเพิ่มเติม
                               4)   สิ่งของที่ใช้ในการวาดภาพ และสิ่งของที่ใช้ในการระบายสี ฯลฯ
                        2.2   ดูภาพแล้วเรียงลำดับภาพตามเหตุการณ์
                        2.3   ดูภาพแล้วจับคู่ภาพที่เหมือนกัน บอกรายละเอียดของภาพ
                        2.4   ดูโฆษณาในสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และที่ติดตามที่สาธารณะ แล้วนำมานำเสนอด้วยวิธีการต่างๆ อาจจะด้วยการเล่า ทำงานศิลปะ ฯลฯ
                        2.5   ไปศึกษานอกสถานที่ตามแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ดูสถานที่ต่างๆ อย่างมีจุดมุ่งหมาย แล้วนำมาพูดคุยกันในกลุ่มและทำงานอื่นๆ ต่อไปได้
                   3.   การพูด จุดมุ่งหมายในการพัฒนาทักษะการพูด เพื่อฝึกมารยาทในการพูด รู้จัก กล่าวทักทาย ขอโทษ ขอบคุณ พูดสุภาพ รู้ว่าเมื่อไรควรฟัง ควรพูด รอโอกาสของตนเองในการพูด สื่อสารด้วยการพูดให้เกิดความเข้าใจและสื่อสารสิ่งที่ต้องการได้ กิจกรรมเสนอแนะ เช่น
                        3.1   ครูบอกชื่อสิ่งของที่อยู่รอบตัว ให้เด็กนำมาให้หรือไปแตะ แล้วบอกชื่อของที่อยู่ตรงหน้าครูอีกครั้งและให้นำไปวางที่เดิม
                        3.2   ครูยืนหน้าตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ประตูหน้าต่าง ให้เด็กบอกส่วนประกอบของสิ่งเหล่านั้นและหรือของที่อยู่บนสิ่งเหล่านั้น หรือครูยืนแล้วบอกชื่อให้เด็กมาแตะและพูดชื่อของสิ่งนั้น
                        3.3   เดาสิ่งของ ครูทำถุงใส่สิ่งของต่างๆ ลงไปในถุง ให้เด็กมาจับของในถุง 1 ชิ้น บรรยายลักษณะและบอกชื่อสิ่งของ ถ้าตอบถูกมาทำหน้าที่แทนครู เรียกเพื่อนมาทำกิจกรรมต่อไป หรือครูอาจจะบรรยายลักษณะของที่มีอยู่ในถุง 1 ชิ้น ให้เด็กเดาว่าเป็นอะไร ใครตอบถูกให้มาหยิบของออกจากถุง ชูให้เพื่อนดูพร้อมบอกชื่อของสิ่งนั้น หรือ นำของวางไว้บนโต๊ะ เอาผ้าคลุมปิดไว้ ถึงเวลาทำกิจกรรม นำผ้าปิดตาเด็ก เด็กหยิบของแล้วบอกลักษณะพร้อมบอกชื่อของ หรือครูบอกลักษณะเด็กหยิบและบอกชื่อ หรือครูบอกชื่อให้เด็กหยิบ
                        3.4   พูดคำคล้องจองตามครู
                        3.5   พูดตอบปริศนาคำทายต่างๆ หรือเด็กเตรียมปัญหาทายเพื่อน
                        3.6   พูดคำด้วยวิธีการระดมสมอง เช่น บอกชื่อสัตว์ พืช ของเล่นที่ชอบ หาคำตรงข้าม คล้องจอง ขึ้นต้น ลงท้าย แต่งประโยค
                        3.7   ให้เด็กนำของเล่นหรือของรักมาให้เพื่อนดู/เล่น แล้วเล่าเกี่ยวกับของที่นำมาโดยจัดให้เด็กมีโอกาสนำมาได้โดยหมุนเวียนวันละ 2 – 3 คน
                        3.8   เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง ครอบครัว หรือเรื่องที่ต้องการจะเล่า
                        3.9   ปฏิบัติการนักข่าว ให้นักเรียนสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางมาโรงเรียนแล้วนำมาเล่าให้เพื่อนฟัง
                        3.10  แนะนำสถานที่ในโรงเรียน ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์น้อย
                   4.   การอ่าน จุดมุ่งหมายในการพัฒนาทักษะการอ่าน เพื่อฝึกมารยาทในการอ่าน ได้ฝึกทักษะการอ่านออกเสียง อ่านในใจตามเหตุการณ์ อ่านจากสื่อต่างๆ ได้ สามารถเลือกหนังสืออ่านได้ตามความสนใจ สนใจอ่านเป็นประจำ รักการอ่าน รู้จักวิธีการดูแลและถนอมหนังสือ ใช้หนังสือเป็นกิจกรรมเสนอแนะ เช่น
                        4.1   กวาดสายตาจากซ้ายไปขวา โดยใช้ภาพที่ชวนให้สังเกตและต้องสังเกตจากซ้ายไปขวา และการกวาดสายตาจากบนลงล่าง เพื่อวางพื้นฐานในการอ่าน
                        4.2   เพื่อแยกแยะรายละเอียดและความแตกต่างของสิ่งต่างๆ ที่จะช่วยให้เด็กสังเกตเห็นความแตกต่างของพยัญชนะ สระ คำ ต่อไปในอนาคตจัดกิจกรรมการจับคู่ภาพ ให้มีระดับความละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละวัย และจำนวนภาพที่จับคู่ เริ่มจาก 3 คู่ ไปตามลำดับวัย
                        4.3   รู้จักกับตัวพยัญชนะ ออกเสียงพยัญชนะ รู้จักสระ ออกเสียงสระ
                        4.4   อ่านภาพออกเสียงคำเกี่ยวกับภาพที่เห็น
                        4.5   อ่านบัตรภาพและคำ จับคู่ภาพและคำ จำนวนภาพเริ่มจาก 3 คู่ไปตามลำดับวัยและอ่านสะกดคำ หรืออ่านคำ
                        4.6   อ่านคำ อ่านประโยค อ่านเรื่อง จากการจัดกิจกรรมของครู หรือจากหนังสือที่จัดไว้ให้ในห้องเรียน
                        4.7   มุมหนังสือ เลือกหนังสือที่ใส่ไว้ในมุมหนังสือในห้องเรียน โดยเลือกให้เหมาะกับวัยเด็ก อาจเป็นหนังสือที่มีแต่ภาพ ภาพกับคำ ภาพกับประโยค และภาพประกอบเรื่องราวเลือกหนังสือให้มีขนาดที่หลากหลาย มีปกที่แข็งแรง ควรให้มีการหมุนเวียนหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างห้อง ระหว่างชั้นเรียน มีหนังสือสอดคล้องกับการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กในแต่ละช่วงเวลา
                   5.   การเขียน จุดมุ่งหมายในการพัฒนาทักษะการเขียน เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อย่อย ที่จะนำไปสู่การจับดินสอ ให้เด็กได้รู้จักการนั่งที่ถูกวิธี รวมถึงการนั่งและจับดินสอได้ถูกวิธีเขียนพยัญชนะ สระ คำ ประโยค ได้ตามแบบหรือประกอบภาพถ้านักเรียนสนใจจะทำและต้องการ จะทำกิจกรรมเสนอแนะ เช่น
                        5.1   เตรียมมือสำหรับหยิบจับการเขียน โดยการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก-ย่อย เช่น แผ่นตัวต่อ ที่มีจุกให้จับ เวลาจับ ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง  นิ้วโป้ง
                        5.2   วาดภาพด้วยดินสอเทียนแท่งใหญ่ แท่งเล็ก ดินสอสี สีน้ำ ตามความเหมาะสมและความพร้อม จะทำให้เห็นลายเส้นที่เด็กขีดเขี่ย
                        5.3   รูปแบบการเขียน ลายเส้นเพื่อฝึกลีลามือ เส้นขด วงกลม ครึ่งวงกลม ซิกแซก แนวตั้ง แนวนอน เส้นเอียง เส้นโค้ง และเส้นหยัก หรืออาจเป็นกรอบลายเส้นต่างๆ ให้เด็กวาดตาม ประดิษฐ์เอง
                        5.4   การเย็บ/การร้อยเชือก ทำแผ่นรูปพยัญชนะ สระ คำ เจาะรู ให้เด็กใช้เชือกร้อยตามรู ไปรอบๆ ตัวพยัญชนะ สระ หรือคำ โดยให้ได้มีโอกาสร้อยตามวิธีการเขียน
                        5.5   จัดเตรียมแป้งโด พร้อมแผ่นพยัญชนะ ให้เด็กใช้แป้งโดประดิษฐ์พยัญชนะนั้นๆ
                        5.6   ทำแผ่นพยัญชนะเป็นแผ่นกระดาษ ตัวพยัญชนะทำด้วยกระดาษ ให้เด็กใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางลูบไปบนตัวพยัญชนะอย่างถูกวิธี เด็กจะเขียนพยัญชนะเหล่านั้นได้
                        5.7   มีตะกร้าบรรจุของ ที่มีเสียงตัวพยัญชนะที่เด็กรู้จักให้หยิบของจากตะกร้าบอกชื่อสิ่งของ ครูพูดซ้ำให้เด็กสังเกตเสียง แล้วหยิบบัตรกระดาษทรายพยัญชนะที่เสียงตรงกัน ขึ้นมา ฝึกออกเสียง ให้เด็กจับคู่เสียงกับสิ่งของ เมื่อเล่นจนเด็กคุ้นเคยกับวิธีการแล้ว ให้จับคู่ภาพ กับสิ่งของกับคำต่อไป
                        5.8   กระจายบัตรพยัญชนะไปรอบๆ ห้อง ครูไปแตะบัตรแต่ละบัตร เอานิ้วลูบ ไปบนตัวพยัญชนะแล้วออกเสียง ครบทุกตัว แล้วสุ่มชี้ให้เด็กออกเสียงบ้าง จากนั้นออกคำสั่งให้เด็ก ทำอาการต่างๆ ตามคำสั่งไปหยิบบัตร และใช้นิ้วกลางกับนิ้วชี้เขียนไปบนบัตรพยัญชนะนั้น เช่น กระโดดไปหยิบ/เขียน พ เดินไป…
                        5.9   ทำหนังสือ ให้เด็กเขียนตัวพยัญชนะที่รู้จัก หาภาพจากวารสารหรือแผ่นโฆษณาต่างๆ ที่มีเสียงเดียวกับพยัญชนะมาติด แล้วทำรวบรวมเป็นเล่ม ไว้ที่มุมหนังสือหรือมุมผลงานของเด็ก จากพยัญชนะ ต่อไปเป็นคำ เป็นประโยค ตามลำดับ
                        5.10  ทำซองจดหมายโดยเขียนตัวพยัญชนะไว้หน้าซอง ให้รวบรวมภาพที่ขึ้นต้น ด้วยพยัญชนะดังกล่าวใส่ไว้ในซอง วางไว้ในตะกร้า ให้เด็กนำภาพมาดูและอ่านภาพ จากนั้นเขียนคำประกอบภาพ รวบรวมคำและภาพที่ทำเป็นหนังสือต่อไป
                        5.11  เขียนพยัญชนะลงบนทราย กระดาน กระดาษ
                        5.12  ทำแผ่นป้ายคล้ายนาฬิกา มีพยัญชนะที่เด็กรู้จักติดอยู่ หมุนเข็มนาฬิกา เข็มชี้ ที่พยัญชนะใด ออกเสียงพยัญชนะตัวนั้น คำนั้น หรือหาคำมาต่อคำนั้น เช่น ก. ไก่ ไก่แจ้ ใช้นิ้วเขียนตัวพยัญชนะนั้นๆ บนอากาศ บนกระดาน บนกระดาษ หรือบนตัวพยัญชนะนั้น
                        5.13  หาพยัญชนะ สระเคลื่อนที่ ให้เด็กนำมาประสมคำตามแบบที่พื้น บนโต๊ะ หรือในกระดานแม่เหล็ก
                        5.14  วาดภาพ ตกแต่งและเขียนข้อความ ทำเป็นการ์ดอวยพรในเทศกาลต่างๆ
                        5.15  วาดโครงร่างกายของเด็กปฐมวัย โดยให้นอนลงบนกระดาษและวาดโครงร่างให้เด็กชี้ส่วนต่างๆ ให้เด็กชี้ส่วนต่างๆ ของร่างกายจากโครงร่าง และร่างกายของตนเอง จากนั้น จึงแนะนำคำส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเด็กชี้ ครูเขียนคำตามที่เด็กบอก เสร็จแล้วให้เด็กอ่านคำ ฯลฯ เล่นกิจกรรมสำรวจร่างกายพร้อมร้องเพลงประกอบท่าทาง เกี่ยวกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย             
                   กิจกรรมต่างๆ ที่เสนอแนะ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ทุกกิจกรรม ในแต่ละบริบทของสถานศึกษา บางกิจกรรมอาจไม่เหมาะสม เพียงแต่นำเสนอเพื่อให้เป็นแนวทางที่จะนำไปพัฒนาภาษาไทยให้แก่เด็กปฐมวัยได้ โดยพยายามที่จะบูรณาการไปกับสาระที่ควรรู้ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ทฤษฎีในการสอนภาษามีหลายทฤษฎี นักการศึกษาแต่ละกลุ่มก็จะมีความเชื่อเป็นฐานคิดที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ แต่สิ่งที่นำเสนอนี้เป็นหนึ่งหนทางที่ทดลองปฏิบัติแล้วได้ผลและสามารถเชื่อมต่อจากอนุบาลสู่ประถมศึกษาได้ หากสนใจใครจะทดลองนำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาภาษาไทยให้แก่เด็กปฐมวัย ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี

รายการอ้างอิง
              อรชา  ตุลานันท์. พัฒนาการทางภาษาของเด็กวัย 6 เดือนถึง 12 ปี. เอกสารประกอบการสอนรายวิชา 2703334 วิธีวิทยาการสอนภาษาไทยในระดับประถมศึกษา, มิถุนายน 2547.
              Eliason,C.F. and Jenkins, L.T., A Practice Guide to Early Childhood Curriculum, Missouri : The C.V. Mosby Company, 1981.

(บทความที่ 1 ชุดที่ 1)