เรื่อง รอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากอนุบาลศึกษาถึงประถมศึกษา

เรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ ดร.จีระพันธุ์  พูลพัฒน์ และนางสาวกมลทิพย์ นิ้มคธาวุธ
(กันยายน, 2561)

รอยเชื่อมต่อทางการศึกษา เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผ่านจากระดับชั้นเรียนหนึ่งไปยังระดับชั้นเรียนอีกระดับหนึ่ง ที่มีธรรมชาติและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลโดยตรงกับเด็กในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ใหม่ และอาจทำให้เด็กเกิดความกังวลใจ (กมลทิพย์  นิ้มคธาวุธ, 2561 สรุปความหมายจาก Dunlop and Fabian (2002), Department of Education and Early Childhood Development (2009), สุจิตรพร  สีฝั้น (2550) และยศวีร์  สายฟ้า (2557))

การเปลี่ยนแปลงจากระดับชั้นอนุบาลและระดับชั้นประถมศึกษาเป็นช่วงเวลาที่สำคัญกับชีวิตของเด็ก เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นการศึกษาภาคบังคับ เด็กที่กำลังเข้าสู่โรงเรียน (อายุระหว่าง 5-7 ปี) ยังปรับตัวได้ไม่ดีนัก และต้องเผชิญกับรูปแบบและลักษณะการเรียนรู้ที่เป็นทางการมากขึ้น เด็กที่เพิ่งเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กในระยะยาว การมีรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของช่วงที่สำคัญดังกล่าวนี้จะส่งผลให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และการทำงานในอนาคต (กมลทิพย์  นิ้มคธาวุธ, 2561)

แนวทางในการเชื่อมต่อการศึกษาระหว่างชั้นอนุบาลศึกษาและประถมศึกษา

ข้อมูลจากงานวิจัยของ กมลทิพย์  นิ้มคธาวุธ เรื่อง บทบาทครูในการสร้างรอยเชื่อมต่อ    ทางการศึกษาของเด็กเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (2561 : 36-41) ได้ศึกษาเอกสารทางวิชาการเพื่อเป็นพื้นฐานและแนวทางในการทำการวิจัยในเรื่องการสร้างรอยเชื่อมต่อการศึกษาระหว่างชั้นอนุบาลศึกษา และประถมศึกษาของต่างประเทศ สรุปสาระสำคัญเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้ดังนี้

  1. ประเทศสกอตแลนด์ “Apprenticeship Model” (Dunlop, 2002 cited in Fabian & Dunlop, 2006) มีวิธีการดังนี้
    1. คัดเลือกบุคคลกร และวางแผนการดำเนินงานทั้งหมดในช่วงรอยเชื่อมต่อ
    2. ใช้กิจกรรมให้เด็กอนุบาลไปทัศนศึกษาชั้นเรียนประถมศึกษา
    3. ให้เด็กที่เรียนในชั้นประถมศึกษาได้กลับมาทำกิจกรรมในชั้นเรียนอนุบาล
    4. ให้เด็กอนุบาลได้ทำความรู้จักกับครูคนใหม่ในชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ 1
    5. ให้ได้ทำกิจกรรมแบบนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อย่างต่อเนื่องก่อนการเปิดเรียน
  2. ประเทศเยอรมนี (Griebel and Niesel, 2002)
    1. ทำความเข้าใจระหว่างครูและผู้ปกครองเกี่ยวกับการดำเนินงานในช่วงรอยเชื่อมต่อ เพื่อลดปัญหาความคาดหวังที่จะทำให้เด็กเครียด
    2. ใช้การสื่อสารระหว่างครอบครัว ครูอนุบาล และครูประถม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการเรียนของเด็กที่มีการเปลี่ยนแปลง และเป็นการเรียนแบบทางการมากขึ้น
  3. ประเทศเดนมาร์ก (Broström, 1998)
    1. สังเกตการทำกิจกรรมต่างๆ และผลงานของเด็กที่สะท้อนถึงพัฒนาการแต่ละบุคคล
    2. จัดทำหลักสูตรและวางแผนกิจกรรมในช่วงรอยเชื่อมต่อให้สอดคล้องกับความพร้อมพัฒนาการและตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก
    3. ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้เลี้ยงดูเด็ก หรือผู้ปกครอง
    4. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เด็กเกิดความมั่นใจ และมีความสุขในการมาเรียนชั้นประถมศึกษา
  4. ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Van der Aaisvoort, 2007)
    1. การศึกษาภาคบังคับจะรับเด็กตั้งแต่ 5 ขวบที่เรียนอยู่ในชั้นอนุบาล จึงจัดการศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 คล้ายกับระดับอนุบาล
    2. เริ่มการเรียนแบบอ่าน – เขียน และคณิตศาสตร์ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
    3. มีการคัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อการพัฒนาส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับเด็กสูงสุด
    4. มีการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้
  5. ประเทศฮ่องกง (Chan, 2010) ได้เสนอแนวทางปฏิบัติของบุคคลที่เกี่ยวข้องในช่วงรอยต่อ ดังนี้

1) แนวทางปฏิบัติของรอยเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ
1.1) การปฏิบัติของรอยเชื่อมต่อ

(1) ครูชั้นอนุบาลศึกษา
(1.1) ให้เด็กอนุบาลได้มีประสบการณ์ทำกิจกรรมร่วมกับพี่ชั้นประถมศึกษา
(1.2) ประชุมผู้ปกครองให้ข้อมูลสิ่งที่เด็กจะพบเมื่อไปเรียนในชั้นประถมศึกษา เชิญโรงเรียนประถมศึกษามาแลกเปลี่ยนข้อมูลการเรียนในระดับประถมศึกษา
(1.3) เตรียมความพร้อมให้แก่เด็กด้านทักษะทางวิชาการ และพฤติกรรมการแสดงอารมณ์ของตนเอง การแสดงออกทางสังคม

(2) ครูชั้นประถมศึกษา
(2.1)  ปฐมนิเทศเด็กใหม่ จัดสัปดาห์รอยเชื่อมต่อช่วงก่อนเปิดเทอม    ให้เด็กคุ้นเคยกับสังคม และสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่
(2.2)  มีนโยบายและเป้าหมายของโรงเรียนให้ชัดเจน เพื่อครูและผู้ปกครองได้มีความเข้าใจร่วมกัน เพื่อลดความเครียดของเด็ก
(2.3) มีการประเมินผลเกี่ยวกับการปรับตัวของเด็กอย่างต่อเนื่อง

2) การทำงานร่วมกันระหว่างระดับอนุบาลศึกษาและประถมศึกษา
2.1) การจัดกิจกรรมร่วมกัน
2.2) แลกเปลี่ยนข้อมูลเด็กจากครูอนุบาลสู่ครูประถม
2.3) มีนโยบายสนับสนุนการทำงานร่วมกัน และกำหนดกลุ่มคนที่จะทำงานในรอยเชื่อมต่อ

3) ความร่วมมือของครอบครัวกับโรงเรียนด้วยการสื่อสารหลากหลายช่องทางเพื่อสร้างความสัมพันธ์ เช่น การสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การแจกหนังสือ

ประเทศไอซ์แลนด์ Einarsdottir (2003) ได้เสนอแนวทางปฏิบัติไว้ดังนี้

  1. ครูอนุบาลและเด็กอนุบาลไปเยี่ยมชมโรงเรียนประถมศึกษาก่อนโรงเรียนเปิด
  2. ครูอนุบาลและครูประถมทำงานร่วมกันด้วยการสังเกตการปฏิบัติงานในห้องเรียน    ในแต่ระดับ ประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องการจัดการเรียนการสอนเพื่อความต่อเนื่อง      ทำความเข้าใจวิถีชีวิต พัฒนาการของเด็กและความแตกต่างของเด็กแต่ละคน ประชุมผู้ปกครองนักเรียนร่วมกัน ครูอนุบาลหาโอกาสในการเข้าไปสอนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในบางครั้ง
  3. ครูประถมศึกษาทำความรู้จักเด็กอนุบาลที่จะมาเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

ประเทศฟินแลนด์ Ahtola et al (2012) ได้เสนอแนวทางปฏิบัติเฉพาะในโรงเรียนประถมศึกษา ไว้ดังนี้

  1. นักเรียนอนุบาลเยี่ยมชม ทำความรู้จักโรงเรียนประถมศึกษา พบปะกับครูและนักเรียน ในโรงเรียนประถมศึกษา
  2. ครูอนุบาลและครูประถมทำงานร่วมกันในการวางแผนการสอน สอน จัดกิจกรรม ปรับปรุงหลักสูตรอนุบาลและหลักสูตรประถม
  3. ครูอนุบาลทำแฟ้มพัฒนาการเด็ก เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ครูประถม
  4. เด็ก ผู้ปกครอง และครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้พบกันก่อนเปิดเทอม
  5. ครูอนุบาล ครูประถม และบุคลากรพิเศษ เช่น ครูเด็กพิเศษ นักจิตวิทยาพูดคุยกันเกี่ยวกับการเข้าเรียนร่วมกัน

ประเทศออสเตรเลีย Dockett and Perry (2001) ได้เสนอแนวทางการสร้างรอยเชื่อมต่อ  ที่ประสบความสำเร็จในประเทศ ไว้ดังนี้

  1. สร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง และนักการศึกษา
  2. สนับสนุนพัฒนาการของเด็กแต่ละบุคคลให้เป็นไปตามความสามารถ
  3. จัดกิจกรรมปฐมนิเทศเพื่อสนับสนุนรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา
  4. จัดหาแหล่งทุน และแหล่งทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในช่วงรอยเชื่อมต่อ
  5. มีส่วนร่วมจากบุคคลหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในช่วงรอยเชื่อมต่อ
  6. วางแผนการดำเนินงาน และประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ
  7. ใช้วิธีการที่มีความยืดหยุ่น และมีความรับผิดชอบ
  8. อยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ และมีความเคารพกันและกัน
  9. ติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานในรอยเชื่อมต่อ
  10. สื่อสารกันภายในครอบครัวและตัวเด็กภายในชุมชน

The National Center on Quality Teaching and Learning (2014) ได้เสนอรูปแบบของความสัมพันธ์ที่สนับสนุนรอยเชื่อมต่อไว้ดังนี้

  1. ความสัมพันธ์ของเด็กกับโรงเรียน เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทั้งภายใน และภายนอกห้องเรียนรวมถึงครูคนใหม่ โดยมีแนวทางในการส่งเสริมดังนี้
    1.1 ให้ครูประถมได้ไปพบเด็กอนุบาลในห้องเรียน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้เด็กรู้จัก กับครูประถม
    1.2 จัดกิจกรรมให้เด็กอนุบาลได้พบกับเพื่อนและครูที่จะต้องพบในอนาคต
    1.3 ให้เด็กอนุบาลได้ฝึกกิจวัตรของชั้นประถมศึกษา
    1.4 สร้างความคุ้นเคยเรื่องของชั้นประถมศึกษาผ่านการสนทนาและการเล่าเรื่อง การตั้งคำถาม และช่วยให้เด็กลดความกังวลในการเปลี่ยนระดับชั้น
  2. ความสัมพันธ์ของครอบครัวกับโรงเรียน เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีแนวทางการปฏิบัติดังนี้

2.1 ครูหรือผู้ประสานงานติดต่อกับผู้ปกครองก่อนเปิดเทอม ช่วงเปิดเทอม แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเด็กในเวลาอยู่บ้าน
2.2 สื่อสารเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับรอยเชื่อมต่อในช่วงเวลาการปฐมนิเทศก่อนเปิดเทอม หรือพาเยี่ยมชมรอบๆ โรงเรียน มีเอกสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้แนวทางแก่ผู้ปกครองในการส่งเสริมเด็ก

ยศวีร์  สายฟ้า (2557) ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวปฏิบัติสำหรับครูประถมศึกษา        ในการจัดการเรียนรู้ในช่วงรอยเชื่อมต่อระหว่างชั้นเรียนอนุบาลและประถมศึกษา ไว้ดังนี้

  1. เรียนรู้และทำความเข้าใจธรรมชาติและตัวตนที่แท้จริงของเด็กที่กำลังอยู่ในช่วง รอยเชื่อมต่อจากแนวคิดทฤษฎี และนำข้อมูลมาใช้วางแผนจัดการเรียนรู้ โดยยึดกรอบการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม
  2. สร้างความตระหนักและทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองในฐานะของ ครูประถมศึกษาที่มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนเด็กในการเรียนรู้ และปรับตัวในช่วงรอยเชื่อมต่อ    ได้สำเร็จ มีความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนรู้ให้อยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างรายบุคคล
  3. ทำงานเป็นทีมกับผู้เกี่ยวข้องกับเด็ก ประสานงานกับครูอนุบาลเพื่อขอรับข้อมูลของเด็กขณะเรียนอยู่ชั้นอนุบาล ประชุมร่วมกับครูอนุบาล เพื่อเรียนรู้และทำความรู้จักเด็ก และเป็นการสร้างเครือข่ายและสัมพันธภาพกับครู ผู้ปกครอง และครอบครัวของเด็ก แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนในการจัดการเรียนรู้ในช่วงรอยเชื่อมต่อ
  4. จัดทำระบบฐานข้อมูลของแต่ละคนโดยละเอียด เพื่อให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ เด็กแต่ละคนอย่างเหมาะสม
  5. จัดการเรียนรู้ในลักษณะของโปรแกรมเชื่อมต่อก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็กก่อนเปิดภาคเรียน จัดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้กิจวัตรประจำวันของนักเรียนประถมศึกษาล่วงหน้า
  6. พยายามสร้างทัศนคติกับเด็กในการมาโรงเรียนให้เป็นเชิงบวก เช่น ใช้กิจกรรมโฮมรูมช่วงเช้า พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กประทับใจเมื่อมาโรงเรียน

กมลทิพย์  นิ้มคธาวุธ (2561 : 46) ได้สรุปผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น              ได้องค์ประกอบแนวทางการปฏิบัติของครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในช่วงรอยเชื่อมต่อ 3 ด้าน ดังนี้

  1. การสนับสนุนการปรับตัว
    1. การจัดโปรแกรมเตรียมความพร้อม
    2. การวางแผนและกำหนดเป้าหมาย
    3. การวัดและประเมินผล
    4. การส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน
    5. การสอนวิชาหลักโดยครูประจำชั้น
    6. การสร้างทัศนคติที่ดีในการมาโรงเรียน
    7. การจัดสภาพแวดล้อม
    8. การส่งเสริมการเรียนรู้เป็นรายบุคคล
  2. การทำงานร่วมกับครูอนุบาล

2.1 การวางแผนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอน
2.2 การจัดกิจกรรมร่วมกัน
2.3 การแลกเปลี่ยนข้อมูลเด็ก
2.4 การสนับสนุนนโยบายในการทำงาน
2.5 ศึกษาและพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน

  • การสร้างโปรแกรมระหว่างรอยเชื่อมต่อ
  • การสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง

3.1 การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี โดยการสื่อสารที่หลากหลาย
3.2 การให้ความรู้ความเข้าใจ
3.3 การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
3.4 การสื่อสารที่หลากหลาย
3.5 การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก

นอกจากนี้ กมลทิพย์  นิ้มคธาวุธ (2561 : 56) ได้มีการสรุปกำหนดกรอบแนวคิดการวิจัย จากผลการศึกษาเอกสารและงานวิจัยต่างๆ ได้กรอบแนวคิด เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทครู   ในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของเด็กเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ดังนี้

  • การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้

1.1 การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการมาโรงเรียน
1.1.1 การสร้างความคุ้นเคย
1.1.2 การจัดสภาพแวดล้อม

1.2 การส่งเสริมการปรับตัว
1.2.1 ด้านสังคม
1.2.2 ด้านอารมณ์
1.2.3 ด้านการเรียนรู้ และสติปัญญา
1.2.4 ด้านการพึ่งพาตนเอง

  • การทำงานร่วมกันของครู

2.1 การแลกเปลี่ยนข้อมูล
2.1.1 แนวทางการจัดประสบการณ์
2.1.2 พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก
2.2 การวางแผนและดำเนินการ
2.2.1 การพัฒนาหลักสูตรการเชื่อมต่อ
2.2.2 การดำเนินงาน
2.2.3 การประเมินผลการทำงาน

  • การส่งเสริมความร่วมมือกับผู้ปกครอง

3.1 การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
3.1.1 การสื่อสารที่หลากหลาย
3.1.2 การแลกเปลี่ยนและสร้างข้อตกลงร่วมกัน

3.2 การสร้างความเป็นหุ้นส่วน
3.2.1 การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรอยเชื่อมต่อ
3.2.2 การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก

งานวิจัยได้นำแบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลจากครูที่เป็นตัวอย่าง 376 คน จาก 4 สังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการ       การอุดมศึกษาในกรุงเทพมหานคร โดยตัวอย่างแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่ 1 ครูชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1 ในโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอน ระดับอนุบาลและประถมศึกษา และประเภทที่ 2     ครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอน ระดับประถมศึกษาขึ้นไป

ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามที่สมบูรณ์ จำนวน 337 ฉบับ พบว่า ครูทั้งสองประเภทมีความเข้าใจในการปฏิบัติในช่วงรอยเชื่อมต่อในระดับน้อย และปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 45.8 และร้อยละ 46.6 ครูประเภทที่ 1 คิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างรอยเชื่อมต่อของเด็กเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้แก่ ความพร้อมทางการเรียนของเด็ก คิดเป็นร้อยละ 51.3 ส่วนครูประเภทที่ 2 คิดว่า การจัดโปรแกรมเพื่อปรับพื้นฐานแก่เด็กสำคัญที่สุด คิดเป็นร้อยละ 46.6 ครูทั้ง 2 ประเภท   คิดว่า พัฒนาการและความสามารถที่สำคัญที่สุดในช่วงรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา คือ พัฒนาการ ด้านการเรียนรู้ และสติปัญญา คิดเป็นร้อยละ 64.7 และร้อยละ 65.9 ตามลำดับ โดยครูประเภทที่ 1 ระบุว่า โรงเรียนมีการจัดหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในช่วง  รอยเชื่อมต่อมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 45.5 ครูประเภทที่ 2 ระบุว่า โรงเรียนมีนโยบายในการส่งเสริมความสัมพันธ์ และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 47.7

บทบาทครูในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของเด็กเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1   ได้แบ่งการนำเสนอข้อมูลเป็น 3 ด้าน คือ การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ การทำงานร่วมกันของครู และการส่งเสริมความร่วมมือกับผู้ปกครอง

การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ ครูประเภทที่ 1 ปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับข้อมูลพัฒนาการของเด็กในชั้นเรียนของปีการศึกษานั้นๆ      และจัดกิจกรรมหลากหลาย คิดเป็นร้อยละ 67.5 และร้อยละ 50.8 ตามลำดับ ครูประเภทที่ 2 ใช้จัดกิจกรรมที่หลากหลาย      คิดเป็นร้อยละ 31.8 ครูทั้งสองประเภทได้ส่งเสริมความพร้อมด้านการพึ่งพาตนเองมากที่สุด รองลงมาคือ ความพร้อมด้านสังคม เทคนิคที่ใช้มากที่สุดในการส่งเสริมความพร้อมด้านสังคม ด้านอารมณ์  ด้านการเรียนรู้ และสติปัญญา คือ การใช้สื่อ นิทาน

การทำงานร่วมกันของครู ครูประเภทที่ 1 ทำงานร่วมกับครูอนุบาล คิดเป็นร้อยละ 33.7 ด้วยการแลกเปลี่ยนการออกแบบกิจกรรม และการจัดการเรียนรู้ การจัดสภาพแวดล้อมห้องเรียน   คิดเป็นร้อยละ 17.1 และร้อยละ 27 ตามลำดับ พัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างรอยเชื่อมต่อ               ด้วยการออกแบบกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง และกำหนดการวัดและประเมินผลเด็ก    อย่างหลากหลายและเหมาะสม คิดเป็นร้อยละ 19.5 และร้อยละ 18.3 ครูประเภทที่ 2 แลกเปลี่ยนกับเพื่อนครู โดยจัดสภาพแวดล้อมห้องเรียนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 53.4 พัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างรอยเชื่อมต่อด้วยการกำหนดการวัดและประเมินผลเด็กอย่างหลากหลายและเหมาะสม คิดเป็นร้อยละ 37.5

การส่งเสริมความร่วมมือกับผู้ปกครอง ครูทั้งสองประเภทใช้การประชุมผู้ปกครอง         ทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์ ให้ข้อมูล ข่าวสารความรู้เกี่ยวกับความพร้อมในการเรียนของเด็ก และรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 55.4 และร้อยละ 60.2 ตามลำดับ ครูประเภทที่ 1 แลกเปลี่ยนข้อมูลพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กกับผู้ปกครอง เรื่องความผิดปกติต่างๆ          และพฤติกรรมที่ต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษ คิดเป็นร้อยละ 91.9 และร้อยละ 66.7 ตามลำดับ ครูประเภทที่ 2 แลกเปลี่ยนพฤติกรรมที่ต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษกับผู้ปกครองมากที่สุด      คิดเป็นร้อยละ 88.6 ครูประเภทที่ 1 ส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาในเรื่องพัฒนาการตามวัยของเด็ก คิดเป็นร้อยละ 75.5 ครูประเภทที่ 1 ใช้การชักนำ   ให้ผู้ปกครองมีส่วนช่วยเด็กในเรื่องการปรับตัว คิดเป็นร้อยละ 56.8

ผู้วิจัยได้มีข้อเสนอแนะจากผลของงานวิจัย สำหรับครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ     ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างรอยเชื่อมต่อให้แก่เด็ก คือ (1) เรียนรู้ธรรมชาติและพัฒนาการของเด็ก ศึกษา และทำความเข้าใจบทบาทและการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการปรับตัวของเด็ก (2) ทำงานร่วมกับครูทั้งชั้นอนุบาลและชั้นประถมศึกปีที่ 1 เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ กิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการวัดและประเมินผล (3) จัดทำระบบฐานข้อมูลของเด็กแต่ละคนโดยละเอียดจากข้อมูลที่ได้รับมาจากครูอนุบาลหรือผู้ปกครอง (4) จัดการเรียนรู้และจัดสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างความคุ้นเคย ส่งเสริมพัฒนาการอย่างเป็นองค์รวม โดยมีความต่อเนื่องกับชั้นเรียนอนุบาล และ (5) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครองหรือครอบครัวของเด็ก

สำหรับผู้เรียบเรียงบทความฉบับนี้ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการเชื่อมต่อการศึกษาระหว่างชั้นอนุบาลศึกษาและประถมศึกษา ในระดับห้องเรียนที่สามารถปฏิบัติได้ในบริบทไทย คือ  ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 จัดสภาพแวดล้อมทางกายห้องเรียนให้คล้ายคลึงกับระดับชั้นประถมศึกษา จัดที่นั่งแบบมีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งแบบนักเรียนประถม ฝึกให้ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง จัดการเรียนการสอนให้มีช่วงสมาธิยาวขึ้นประมาณ 30-45 นาที ให้เด็กทำกิจกรรมสุนทรียะ       แทนการนอนกลางวัน ถ้าเด็กไม่ต้องการนอนกลางวัน ครูอนุบาลเตรียมเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก นอกเหนือจากบันทึกสุขภาพเพื่อส่งต่อให้ผู้ปกครองนำไปมอบให้ครู    ที่สอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 สำหรับการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จัดกิจกรรมไปในทิศทางเดียวกับระดับอนุบาล โดยจัดการสอนเป็นหน่วยแบบบูรณาการ 4 วิชาหลัก และนำสาระอื่นๆ มาบูรณาการให้สอดคล้องกับหน่วย โดยยังคงใช้หลักสูตรแกนกลางเป็นแนวทางหลักในการจัดการเรียนการสอน แต่เปลี่ยนวิธีการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ สำหรับการประเมินผลใช้การสังเกตพัฒนาการและส่งเสริมให้พัฒนาการได้เต็มตามศักยภาพ แต่การประเมินเพื่อเทียบเคียงผลการเรียนรู้อาจประเมินตามช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 6