เรื่อง ใช้เวลา ใช้ชีวิตให้คุ้มค่าในมหาวิทยาลัย

ใช้เวลา ใช้ชีวิตให้คุ้มค่าในมหาวิทยาลัย

รศ.ดร.จีระพันธุ์  พูลพัฒน์  (พ.ศ. 2542)

ขอต้อนรับน้องใหม่ทุกคนสู่รั้วจามจุรี
              การก้าวเข้ามาสู่ระดับอุดมศึกษาเป็นการเรียนในมหาวิทยาลัย จะต่างจากการเรียนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียน เมื่อเราอยู่ในโรงเรียนเรามีอาจารย์ประจำชั้นคอยดูแลให้คำแนะนำในการเรียน ดูแลความประพฤติ ใกล้ชิดให้ความเอาใจใส่แก่เราทุกเรื่อง เราต้องทำตามกรอบของโรงเรียนที่กำหนด มีอาจารย์ที่จะดูแลทุกข์สุขเอาใจใส่เยอะ และเราเองก็มีความรู้สึกอบอุ่นดีในบรรยากาศเช่นนั้น
              ในมหาวิทยาลัย จะมีอาจารย์ที่ปรึกษา ดูแลการเลือกวิชาเรียน ให้คำแนะนำในการปฏิบัติทั่วๆ ไป มีการปฐมนิเทศนิสิตใหม่ให้เข้าใจในเรื่องต่างๆ ของภาควิชา คณะ และมหาวิทยาลัยในวงกว้างๆ ทั้งการเรียน การแต่งกาย การปฏิบัติตน และกิจกรรมต่างๆ ที่นิสิตควรรับทราบในฐานะ ผู้มาใหม่ การเข้าเรียน การแบ่งเวลาในการเรียน การเข้าร่วมกิจกรรม การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม การใช้เวลาว่างเป็นเรื่องที่เราต้องตัดสินใจเองทั้งหมด เวลาทั้งหมดเป็นของเรา เราต้องตัดสินใจให้ดี ในเรื่องของการใช้เวลา ถ้าเราจัดสรรเวลาไม่ได้ ไม่เป็น เราก็จะทำอะไรไม่ทัน ในที่สุดก็จะทำอะไรไม่สำเร็จ ถ้าเราจัดการกับเวลาได้ เราก็จะจัดการกับชีวิตของเราได้
             เราจะทำอย่างไรจึงจะใช้เวลาและใช้ชีวิตให้คุ้มค่าในเวลา 24 ชั่วโมง ต่อ 1 วัน ในฐานะนิสิตในมหาวิทยาลัย แนวทางปฏิบัติเพื่อจัดสรรเวลานอกเหนือจากการนอนพักผ่อนแล้ว มีอะไรบ้าง

1.   เวลาเพื่อการเรียน
              1.1   เวลาตามตารางสอน เข้าเรียนตามตารางเวลาที่กำหนด  ฝึกให้ชินที่จะเข้าเรียนให้ตรงเวลา ระหว่างรออาจารย์ หรือรอเปลี่ยนชั้นเรียน ควรใช้เวลาพูดคุย สังสรรค์ สร้างสังคม เพื่อจะได้รู้จักสนิทสนมกับเพื่อนมากขึ้น มีอะไรที่จะตกลง ติดตาม ซุบซิบเพื่อความเบิกบานก็ทำไประหว่างรอ
                      ระหว่างเรียน ตั้งใจเรียน มีสมาธิในการฟัง ติดตามสาระสำคัญในแต่ละชั่วโมงให้ได้ ไม่เข้าใจซักถามทั้งในและนอกห้องเรียน เข้าร่วมกิจกรรมและทำงานของวิชาที่เรียนตามที่อาจารย์กำหนด
                      กิจกรรมที่ทำในห้องเรียน มีการแบ่งกลุ่ม มีประธาน เลขานุการ กรรมการ ฝึกตนเองในการรู้จักทำงานให้ได้ทุกหน้าที่ อย่างมีความรับผิดชอบ และทำงานเป็น เพื่อผลดีเมื่อออกไปทำงานจะได้รู้จักบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ทำงานได้ตรงตามสถานภาพของตน
              1.2   ช่วงเวลาที่มาเรียน  เข้า กลาง เย็น ที่ไม่มีตารางสอนและช่วงพักระหว่างเรียนน่าจะใช้เวลาว่างในช่วงนี้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการเข้าห้องสมุด ค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อการทำรายงานในวิชาต่างๆ หรือศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว จดบันทึกสาระสำคัญที่ศึกษาได้จะทำให้เราได้เรียนรู้มากกว่ายอมรับทุกอย่างเฉพาะที่เกิดขึ้นในห้องเรียน
                      เมื่อเรียนหมดชั่วโมงแล้ว ควรจะได้อ่านทบทวน ขีดสาระสำคัญ หาความรู้เพิ่มอ่านทบทวนก่อนเข้าเรียนชั่วโมงต่อไป ไม่เข้าใจให้ซักถามเพื่อจะช่วยปูพื้นฐานความเข้าใจในการที่จะเรียนในชั่วโมงต่อไป และจุดสำคัญเมื่อถึงเวลาสอบสิ่งต่างๆ ที่เราเรียน เราจะเข้าใจ ทบทวนเพียงประเด็นสำคัญก็พอ เราก็จะทำข้อสอบได้ดีทั้งแบบปรนัยและอัตนัย โดยไม่ต้องไปเสียศักดิ์ศรีพึ่งพาคนอื่นในตอนสอบ ด้วยตัวเราเองเตรียมตัวไม่พร้อม
                      ช่วงเวลาว่างระหว่างเรียน ศึกษาเพื่อตนเอง ศึกษาค้นคว้ารวมกลุ่มเพื่อทำรายงาน ถ้าเราสามารถใช้เวลาว่างในแต่ละช่วงทำงานของการเรียนได้ด้วยความสม่ำเสมอ เราก็จะไม่มีงาน คั่งค้าง ก็คงไม่ปรากฏในใบรายงานผลการเรียน อาจารย์ก็พอใจ เพื่อนก็จะไม่รังเกียจ เพราะเข้าชั้นเรียนอาจารย์ไม่ต้องมาเสียเวลาพูดติดตามงาน เพื่อนก็ไม่ต้องรำคาญใจ ทุกคนจะได้เรียนอย่างมีความสุข
                      เวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน เพื่อการสังคม รับประทานอาหารรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ สลับกระจายกลุ่มไปเรื่อยๆ จะได้รู้จักคุ้นเคยกับเพื่อนกว้างขวางขึ้น และในช่วงเวลารับประทานอาหาร ให้พูดคุยกันในเรื่องที่สบายอกสบายใจ อย่าพูดเริ่มด้วยมาติดตามงาน เพราะจะทำให้เกิดความเครียด อาหารไม่ย่อย ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาอีก รับประทานอาหารเสร็จพอมีเวลาก็ถือโอกาสไปเดินตามร้านค้าเป็นการพักผ่อน ซื้อของใช้ แต่ต้องไม่ลืมเวลาเข้าเรียนหรือนัดทำงานกับใครๆ
                      เวลาเลิกเรียนตอนเย็น นอกเหนือจากการนัดหมายเรื่องการเชียร์ การพบพี่-น้อง ควรหาวิธีการออกกำลังกายด้วยวิธีต่างๆ ที่เราพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง เล่นกีฬา ถ้ามีกิจกรรมการแข่งขันกีฬาของคณะ ของมหาวิทยาลัย ควรจัดเวลาในการไปให้กำลังใจเพื่อนที่ทำการแข่งขัน ถ้าเป็นนักกีฬาเองได้ก็ควรให้ความร่วมมือ เสียสละเวลาเชียร์เพื่อนที่เสียสละเวลาไปในการฝึกซ้อมเพื่อเป็นนักกีฬา นอกจากเรื่องของกีฬาแล้วก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายอย่างของมหาวิทยาลัย ที่จะมีอยู่เป็นระยะๆ ไม่ว่าจะดนตรี กิจกรรมของชมรมต่างๆ และตอนเช้าในบางวันก็จะมีการตักบาตรร่วมกัน ก็ควรจะหาโอกาสไปทำบุญตักบาตรถ้าเรานับถือศาสนาพุทธ หรือเข้าไปร่วมทำกิจกรรมของชมรมให้บริการแก่ผู้มาร่วมการทำบุญ

2.   เวลาเพื่อการทำกิจกรรม
              ระหว่างที่ใช้ชีวิตเรียนในมหาวิทยาลัย ควรจะถือว่าเป็นโอกาสดีในการที่จะได้ฝึกงานได้ประสบการณ์ชีวิตในการทำงานร่วมกับบุคคลอื่นก่อนไปใช้ชีวิตในการทำงานจริงๆ ดังนั้นเราควรเลือกเข้าร่วมกิจกรรมของคณะ มหาวิทยาลัยและอื่นๆ ที่สนใจ เช่น เราสนใจทางศาสนา ก็เข้าร่วมชมรมทางศาสนา สนใจช่วยเหลือชาวบ้านก็เข้าร่วมทำชมรมค่ายอาสาสมัคร กิจกรรมรับน้องใหม่ๆ กีฬาประเพณีต่างๆ ควรจะจัดเวลาเข้าไปร่วมกิจกรรม
              กิจกรรมไม่ได้เอาเวลาของเราไปจากการเรียน กิจกรรมเป็นการเรียนรู้ส่วนหนึ่ง และช่วยทำให้เราได้ใช้ชีวิตในวัยเรียนได้คุ้มค่าจริงๆ ในการทำกิจกรรมของชมรมต่างๆ หรือในฐานะตัวแทน เข้าไปร่วมทำกิจกรรม จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือและเข้าไปทำงานร่วมกันเป็นครั้งคราวเราต้องแบ่งเวลาไปทำสิ่งเหล่านี้ให้ได้ โดยใช้เวลาที่ว่างระหว่างวันไปทำ ผลจากการทำกิจกรรมจะคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป เราจะได้ประสบการณ์ มีเพื่อนจากหลายคณะ เมื่อจบไปทำงานกันตามที่ต่างๆ จะได้ช่วยเหลือกันประสานกันทำงานให้กับสังคมต่อไป
              การทำกิจกรรมจะฝึกความอดทนให้แก่เรา เพราะเราต้องทำงานกับคนที่มีความแตกต่างกัน ทั้งพื้นฐานทางด้านความรู้ สังคม เศรษฐกิจ การอบรมเลี้ยงดู วิถีทางในการแก้ปัญหา ลักษณะนิสัยส่วนตัวต่างๆ ฯลฯ ถ้าเราได้เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกันจะทำให้เราเข้าใจคนได้ดีขึ้น เมื่อมีโอกาสได้เป็นผู้นำในการทำกิจกรรม จะได้ฝึกความอดทนในการทำงานกับคนที่มีความแตกต่างกันได้ฝึกการพูดจาขอความร่วมมือ ความช่วยเหลือ แก้ปัญหาต่างๆ เรียนรู้การทำงาน หาวิธีการทำงานโดยสันติวิธี ประนีประนอมกัน ซึ่งจุดนี้จะช่วยให้เราออกไปทำงานได้อย่างดี เพราะได้ฝึกมาแล้วในระหว่างเรียน

3.   เวลาทำงานพิเศษเพื่อหารายได้เพิ่มเติม
              สถานะทางการเงินของแต่ละคนมีความแตกต่าง บางครั้งขอทุนแล้วก็ช่วยได้เพียงค่าเล่าเรียน ค่าตำรา ค่าอาหาร มีหลายอย่างที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่หลายคนต้องหาทางแสวงหาให้ได้มาเราสามารถแบ่งเวลาไปทำงานพิเศษได้ ไม่มีอะไรน่าอาย ในการประกอบอาชีพที่สุจริตได้ประสบการณ์และมีรายได้มาจุนเจือการเรียนของตนเอง จริงๆ แล้วน่าจะเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจว่าได้เรียนด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง ถ้าเราต้องช่วยเหลือตนเองในการเรียนก็มองหางานทำจัดเวลาไปทำงานโดยไม่ให้เสียเวลาเรียน เงินได้มารู้จักประหยัดใช้ อย่าหลงระเริงกับการทำงานจนทำให้เสียเวลาในการเรียน เพราะในช่วงชีวิตในการเรียนเป้าหมายสำคัญในชีวิตคือการเรียนให้ดีที่สุดได้มีประสบการณ์ในการเข้าร่วมทำกิจกรรม เรียนให้สำเร็จได้ในเวลาที่กำหนด

4.   เวลาสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง
              ถึงแม้เราจะต้องเรียน มีภาระทั้งเรียน ทั้งทำกิจกรรม บางคนก็ต้องทำงานพิเศษแต่เวลาส่วนหนึ่งของเราก็ควรมีให้กับบุคคลรอบข้างในครอบครัว พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ เพื่อน และ คนที่เรารัก-รักเรา
              เป้าหมายของเราคือ การเรียนเป็นศูนย์กลาง แต่คนรอบข้างเราจะเฉลี่ยเวลาให้อย่างไรที่จะได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัว ให้เวลากับเพื่อนที่เรียนร่วมกันมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็คนรักอีกล่ะ วันธรรมดาเฮฮากับเพื่อน เรียน ทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ทำรายงาน ทบทวนวิชาต่างๆ ที่เรียนด้วยความสม่ำเสมอ วันเสาร์เพื่อนต่างสถาบันและคนรัก วันอาทิตย์ก็เป็นวงศาคณาญาติ และวันอิสรเสรีของเราล่ะจะสลับอย่างไร จัดเวลาลงให้ได้
              การมีคนรักในขณะเรียนไม่ใช่เรื่องเสียหาย จริงๆ แล้วทำให้เกิดรสชาติในชีวิตเดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์สลับกันไป บางทีจากเพื่อนกลายมาเป็นคนรัก จากคนรักกลายไปเป็นเพื่อนคบกันมาตลอดเวลาในการเรียนพบจบก็หายไปคนละทิศคนละทางก็มี เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตถ้าเราแบ่งเวลาได้ การเรียนไม่เสีย คุมใจคุมกายของตนเองให้ประพฤติได้ถูกต้อง มีคนรักไปเถอะไม่เห็นจะเป็นอะไร แต่ต้องเข้าใจและทำใจว่าไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน ถ้าผิดหวังก็อย่ามีอาการเสียใจจนโลกแตก ต้องรู้จัก “เผื่อใจไว้เจ็บ” ถ้าคิดจะรักสิ่งต่างๆ ย่อมเปลี่ยนแปรไปและแปรผันไปได้ตามกาลเวลา อย่าทุ่มเทจิตใจไปมาก เพราะถ้าเสียใจจะดึงไม่กลับ แล้วจะพาลทำให้เสียเวลา  ด้วยการเศร้าโศกในอนาคตอีก

5.   สิ่งที่ทำให้เสียเวลาในระหว่างเรียน
              มีหลายสิ่งหลายอย่างมาล่อทำให้เสียเวลาไปในระหว่างเรียน ทำให้การมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียน การทำกิจกรรม การทำงานต่างๆ ของเราน้อยลง หรือใช้เวลาเบี่ยงเบนไป ถ้าเรามีอาการเหล่านี้คงต้องหาทางขจัดให้น้อยลง และทำให้ตนให้มีสาระเพิ่มขึ้น เช่น
              1)   การไปเดินศูนย์การค้าบ่อยและนาน โดยไม่มีเป้าหมายที่แน่นอนว่าต้องการซื้ออะไร
              2)   รับประทานอาหารกลางวันนานแล้วไถลต่อ
              3)   หาแหล่งข้อมูลในการค้นคว้าไม่เป็น
              4)   การไม่ตรงต่อเวลา ไม่รู้จักฝึกการนัดหมาย
              5)   ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ว่าจะเป็นการทำรายงาน ทำกิจกรรมและอื่นๆ
              6)   หลงลืม ทั้งๆ ที่ไม่ใช่วัยจะหลงลืม
              7)   สนใจอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน แต่หาสิ่งที่สนใจจริงๆ ไม่พบ
              8)   นั่งรอคอยโทรศัพท์ ให้โทรศัพท์มาเป็นเจ้านายของเรา ผวาทุกครั้งที่ได้ยินเสียงโทรศัพท์  ใช้โทรศัพท์แต่ละครั้งนานมาก น่ารำคาญ แล้วพูดก็ไม่ตรงประเด็น
              9)   การเตรียมตัวไม่พร้อม ไม่สำรวจอุปกรณ์การเรียน ทำให้เสียเวลาต้องกลับไปเอาหาซื้อใหม่ให้เปลืองเงิน จะเข้าสอบไม่มีบัตรประจำตัว ต้องเสียเวลาทำข้อสอบเพราะต้องไปติดต่อ เพื่อรับการอนุญาตให้เข้าห้องสอบ
              10)  มัวพะวงเกี่ยวกับตนเอง กลัวไม่สวย ไม่หล่อ โดยเฉพาะช่วงที่มีคนรัก จะเสียเวลาไปเยอะมาก ในการสำรวจตัวเอง เช้า กลางวัน เย็น หลังอาหาร
              11)  ไม่รู้จักใช้เวลาว่างและเวลาระหว่างรอให้เกิดประโยชน์
              12)  ไม่รู้จักระวังรักษาสุขภาพ ทำให้ไม่สบายบ่อยๆ เสียเวลาเรียน ทำงานไม่ทัน รับประทานอาหารแบบคว้าใกล้ตัว ไม่ได้ให้ความสนใจกับอาหารที่มีคุณค่าจริงจัง ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงบางคนยังทารุณตัวเองด้วยการดื่มสุรา สูบบุหรี่ อดนอน เที่ยวดึก ทำให้เป็นตัวการให้เกิดโรค อ่อนเพลีย สมองไม่แจ่มใส และช่วยให้ตายแบบผ่อนส่ง
              น้องใหม่ คือ สิ่งมีค่าที่สดใส เหมือน “จามจุรีที่งดงาม” การก้าวเข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้ “สมองที่ฉลาด” มีอยู่กับเรา จงคิดพิจารณาด้วยสมองอันชาญฉลาดของเราด้วยว่า เราจะก้าวต่อไปอย่างผู้ที่ใช้เวลา และใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้คุ้มค่าได้อย่างไร

(บทความที่ 1 ชุดที่ 4)