เรื่อง แนวคิดการสอนแบบมอนเตสซอรี่

แนวคิดการสอนแบบมอนเตสซอรี่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 

รศ.ดร.จีระพันธุ์  พูลพัฒน์  (พ.ศ. 2549)

บทนำ

              การให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามศักยภาพของแต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเด็กต่อไปในอนาคต ความสนใจ ความต้องการตามธรรมชาติของเด็กควรได้รับความเอาใจใส่จากผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการดูแลเด็กปฐมวัย การส่งเสริมให้เด็กแต่ละคนได้พัฒนาทุกด้านอย่างเต็มศักยภาพของตน เป็นความพยายามของแนวคิดหลายๆ แนวคิดทางการศึกษาปฐมวัยด้วยมุ่งหวังให้เด็กได้เจริญเติบโตสมบูรณ์ทั้งทางกายและจิต มีความสุข สนุกสนาน และได้เรียนในสิ่งที่ต้องการเรียน ได้ทำกิจกรรมในสิ่งที่ต้องการศึกษาค้นคว้าทั้งด้วยตนเองเพียงลำพังและการทำงานร่วมกับเพื่อนๆ การจัดโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยที่จะประสบความสำเร็จได้ดีและทำเพื่อเด็กควรจะเป็นโปรแกรมที่มองเห็นเด็กเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุด
              แนวคิดของมอนเตสซอรี่ในการจัดการเรียนการสอน เป็นแนวคิดหนึ่งที่ให้ความสำคัญแก่เด็ก  โดยได้มีการพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาบนพื้นฐานปรัชญาและหลักการของการที่ผู้ใหญ่ต้องให้ การยอมรับนับถือเด็กในสภาพความเป็นจริงของเด็ก จัดการศึกษาให้เด็กอย่างที่เด็กต้องการเรียนรู้ไม่ใช่ตามที่ผู้ใหญ่ต้องกาs จากจิตที่ซึมซาบได้ของเด็ก ได้นำมาใช้ในการสาธิตการสอนให้แก่เด็ก เด็กได้มีโอกาสศึกษาด้วยตนเองอย่างอิสระจากสิ่งแวดล้อมที่จัดไว้ให้อย่างมีจุดมุ่งหมาย วัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างมีขนาดเหมาะกับวัยของเด็กและเป็นสิ่งที่เด็กต้องการศึกษา เมื่อเด็กทำงาน เด็กจะสงบ มีสมาธิ มีความรับผิดชอบในการที่จะทำงานให้สำเร็จ ในระหว่างการทำงานเด็กสามารถคิดแก้ปัญหาและแก้ไขข้อบกพร่องในการทำงานของตนได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีใครมาชี้นำ
              ดร.มาเรีย  มอนเตสซอรี่ (ค.ศ.1870 – ค.ศ.1952) แพทย์หญิงชาวอิตาลี ผู้คิดวิธีการสอนขึ้นมา ได้เริ่มปฏิบัติจริงในโรงเรียนเมื่อปี ค.ศ.1907 โดยเน้นว่า มือคือครูคนสำคัญของเด็ก เมื่อมือ ของเด็กได้มีบางสิ่งบางอย่างจับต้อง และบิด-หมุนแล้ว สมองจะทำหน้าที่ตอบสนองได้ แนวคิดของมอนเตสซอรี่ได้รับการยอมรับและได้มีการเปิดการสอนโรงเรียนตามแนวคิดนี้ทั่วโลก และขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ จากผลของการสอนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้รับการพิสูจน์มาเป็นเวลายาวนาน
              โรงเรียนอนุบาลกรแก้ว เป็นโรงเรียนหนึ่งในประเทศไทยที่ได้นำวิธีการสอนนี้มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2529 และได้พัฒนาหลักสูตรให้สัมพันธ์กับบริบทสังคมไทย โดยยังคงยึดมั่นในหลักการต้นแบบของการสอนแบบมอนเตสซอรี่ จากการประเมินผล การทดลองใช้ครั้งแรกของโรงเรียน พ.ศ. 2533 ข้อมูลจากบุคคล 3 กลุ่ม คือ เจ้าของโรงเรียน ครู และผู้ปกครอง พบว่าการสอนแบบมอนเตสซอรี่ช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนทั้งในด้านการเตรียมความพร้อมและด้านวิชาการ ครูและเจ้าของโรงเรียนเห็นว่าการสอนแบบมอนเตสซอรี่เหมาะกับเด็กระดับอนุบาล ซึ่งเป็นวัยที่มีความแตกต่างระหว่างบุคคลสูงมาก  ดังนั้น การสอนเป็นรายบุคคลจึงช่วยให้เด็กมีอิสระในการเรียนได้ตามระดับความพร้อม และความสามารถ ครูมีความสบายใจในการจัดการศึกษาให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน โดยปรัชญาการสอนเด็กรายบุคคล ทำให้ครูไม่คาดหวังว่าเด็กแต่ละคนต้องเรียนและประเมินผลการเรียนเหมือนกัน ในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเด็กมีผลการเรียนวิชาต่างๆ ในระดับประถมศึกษาอยู่ในระดับ 4 และ 3 ในด้านการปรับตัวของเด็ก ข้อมูลจากผู้ปกครองพบว่า เด็กทุกคนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่และโรงเรียนใหม่ได้ดี
              ผลของการประเมินนี้พบว่า การจัดการเรียนการสอนมอนเตสซอรี่นี้ สามารถนำมาใช้กับเด็กไทยในระดับอนุบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างน่าพอใจ การบริหารหลักสูตรจะทำได้ดี ถ้าเจ้าของโรงเรียนหรือผู้ดูแลทางวิชาการมีความรู้ การสอนแบบมอนเตสซอรี่เป็นอย่างดี
              พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน โดยยึดเด็กเป็นหลักในการจัดการศึกษา แนวคิดการสอนแบบมอนเตสซอรี่เป็นแนวคิดหนึ่งที่สามารถสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัยให้เป็นไปได้ตามแนวทางที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติมุ่งหวัง
              ดังนั้นการสอนแบบมอนเตสซอรี่ น่าจะเป็นการสอนรูปแบบหนึ่งที่เหมาะกับบริบทสังคมไทยและช่วยลดข้อขัดแย้งในสังคมลงไปได้ในเรื่องการสอนเด็กปฐมวัย เพราะมีระบบการจัดการเรียนการสอนที่ชัดเจนเป็นการสอนรายบุคคล โดยมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่เตรียมความพร้อมในการเรียนทุกกลุ่มวิชา ให้เด็กได้เรียนรู้ก่อนที่จะก้าวไปสู่การอ่าน เขียน คิดเลข เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้ไปตามความสามารถโดยไม่ถูกบังคับ เลือกเรียนได้ตามความสนใจ ผู้บริหารและครูที่จะสอนระบบนี้จะต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักการดังนั้นการสอนแบบนี้ควรจะได้รับความสนใจ และได้รับการสนับสนุนในการนำไปใช้พัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างกว้างขวางต่อไป

จุดมุ่งหมายของการสอนแบบมอนเตสซอรี่
             
เด็กปกติในสิ่งแวดล้อมของมอนเตสซอรี่ จะมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดังนี้
              1.   พัฒนาการเรียนรู้ในการทำงานด้วยตนเอง โดยมีความรับผิดชอบในการที่จะควบคุมตนเองให้ทำงานได้สำเร็จ
              2.   พัฒนาการทางด้านสังคม โดยการเรียนรู้ในการมีชีวิตสังคมที่แท้จริงในห้องเรียนรู้บทบาทและหน้าที่ในการเป็นสมาชิกของกลุ่ม รู้จักที่จะช่วยในการดูแลสิ่งแวดล้อม ทักษะทางสังคมจะได้รับการพัฒนาตามวัยและมีวินัยในตนเอง
              3.   พัฒนาการทางด้านอารมณ์ ด้วยการเป็นผู้ทีมีจิตที่สงบ มีสมาธิในการทำงาน รู้จักควบคุมตนเองในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และรู้จักการรอคอยโอกาสของตนเอง มีอารมณ์ที่เหมาะสม
              4.   พัฒนาการทางด้านสติปัญญา ด้วยการรู้จักแยกแยะ มีความคิดริเริ่ม รู้จักตัดสินใจและแก้ปัญหา เลือกได้อย่างอิสระ
              5.   การพัฒนาทางด้านร่างกาย ทักษะกลไกจะได้รับการดูแลและพัฒนาทั้งกล้ามเนื้อย่อยกล้ามเนื้อใหญ่ และสมดุลของร่างกาย รวมถึงการดูแลระวังรักษาสุขภาพให้ร่างกายเจริญเติบโตอย่างถูกสุขลักษณะและมีสุขนิสัยที่ดีในการทำกิจวัตรประจำวัน
                    การสอนแบบมอนเตสซอรี่ จะช่วยในการพัฒนาบุคลิกภาพทั้งหมดของเด็กให้มีคุณภาพพื้นฐานทุกด้านเพื่อนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดีต่อไป

แนวคิดการสอนแบบมอนเตสซอรี่สู่ท้องถิ่น
             
เมื่อได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และมีการสนับสนุนจากฝ่ายการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ ให้มีการปฏิรูปการศึกษาทุกระดับ นวัตกรรมทางการศึกษาได้มีการพิจารณานำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการเรียนการสอนโดยเฉพาะทางการศึกษาปฐมวัย การสอนตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ ก็เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาแนวคิดหนึ่งที่ได้นำมาใช้ในสถานศึกษาปฐมวัยหลายแห่งในประเทศไทย สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบัน ปีการศึกษา 2548 ได้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนปานุราช สังกัดเทศบาลเมืองกระบี่ ได้นำแนวคิดการสอนนี้ไปพัฒนา เป็นหลักสูตรสถานศึกษาของแต่ละศูนย์

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดกับการสอนแบบมอนเตสซอรี่
             
ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณคุ้มสระแก้ว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2541 ตามโครงการผู้ด้อยโอกาสในเขตเมือง โดยการสนับสนุนจากกรมการปกครองและเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เปิดรับเด็กอายุ 2 ขวบ 6 เดือน ถึง 5 ขวบ โดยมีวิธีการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนจากเด็ก ในชุมชน บุตรพนักงานเทศบาล และประเภทบุตรของบุคคลทั่วไป โดยปีการศึกษา 2548 มีนักเรียน 90 คน
              แนวคิดการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ได้นำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรสถานศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างเป็นระบบ เมื่อปีการศึกษา 2545 สืบเนื่องมาจากโครงการความร่วมมือทางวิชาการระดับการศึกษาปฐมวัยระหว่างคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ระยะที่ 1 ปีการศึกษา 2543 – 2546 รวม 4 ปีการศึกษา และระยะที่ 2 ปีการศึกษา 2548 – 2551 อีก 4 ปีการศึกษา และความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด กับโรงเรียนอนุบาลกรแก้ว โรงเรียนต้นแบบการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร

การดำเนินงานที่นำไปสู่การพัฒนา : วิถีการปฏิบัติจริง
             
1.   เริ่มจากความต้องการและความสนใจที่จะพัฒนาการศึกษาปฐมวัยของท้องถิ่น ผู้บริหารและครูเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด
              2.   มีการประสานงานขอความช่วยเหลือจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการศึกษาในระดับที่ตรงตามความต้องการและความสนใจที่จะพัฒนา
              3.   สำรวจข้อมูลพื้นฐานทางด้านบุคลากร อาคาร สถานที่ ปัจจัยสนับสนุน และพิจารณาร่วมกัน เพื่อวางแผนการดำเนินการพัฒนา
              4.   สำรวจชุมชนเพื่อแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ สื่อที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนที่ตั้งสถานศึกษา เพื่อนำมาพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
              5.   ประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานกับเด็กวัยต่างๆ ทั้งในส่วนของพัฒนาการเด็ก การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การจัดการชั้นเรียน การนำแนวคิดสู่การปฏิบัติที่เหมาะสมกับบริบทในท้องถิ่น การประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ รวมถึงการประเมินงาน
              6.   ประชุมปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการทำงานของผู้บริหารและบุคลากรเป็นระยะๆ ตามแผนงาน ให้เข้าใจแนวคิดการสอนในระหว่างปฏิบัติการ
              7.   มีการนิเทศติดตามผล ให้คำแนะนำช่วยเหลือและพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งมีการอบรมให้ความรู้ทางการศึกษาปฐมวัยเป็นระยะๆ ตามโครงการความร่วมมือ
              8.   มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนต้นแบบทั้งที่ร้อยเอ็ดและกรุงเทพมหานคร

การจัดการเรียนรู้ ณ ปัจจุบัน ปีการศึกษา 2548
การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ
             
อาคารเรียนสำหรับเด็กมี 2 อาคาร อาคารด้านหน้าสำหรับเด็กเล็ก มี 3 ห้อง คือ ห้องมอนเตสซอรี่ ห้องวัฒนธรรมไทย ห้องกิจกรรมรวม อาคารด้านหลังมี 4 ห้อง คือ ห้องรับประทานอาหาร ห้องประกอบอาหาร ศิลปะ ห้องมอนเตสซอรี่ และห้องเสริมประสบการณ์ ทั้งสองอาคารมีทางเดินที่มีหลังคาเชื่อมต่อกัน มีบริเวณสำหรับเล่นทั้งที่เป็นสนามหญ้า และลานซีเมนต์พร้อมเครื่องเล่นสนาม มีรั้วกั้นบริเวณเป็นสัดส่วน มีบริเวณสำหรับการปลูกพืช มีห้องน้ำอยู่ในอาคารทั้ง 2 อาคาร และมีห้องสำหรับการทำงานของครู
              ในแต่ละห้องเรียนจะมีการจัดโต๊ะ เก้าอี้ ที่ว่าง ชั้นวางอุปกรณ์ต่างๆไว้อย่างมีระเบียบ บรรยากาศที่มีแสงสว่าง และลมผ่านตลอดเวลา ทำให้เด็กรู้สึกสบายใจ และมีสมาธิในการทำงาน โต๊ะ เก้าอี้ มีน้ำหนักเบาและขนาดเล็ก เพื่อสะดวกสำหรับเด็กในการเคลื่อนย้าย อุปกรณ์จะมีการจัดวางจากง่ายไปหายาก และใช้วัสดุอุปกรณ์ของท้องถิ่น จัดวางบนชั้นอุปกรณ์ที่อยู่ในระดับที่เด็กหยิบใช้ได้ด้วยตนเอง
              ในห้องกิจกรรมรวมและลานหน้าห้องเรียนภายในอาคารด้านหลังจะมีบอร์ดเกี่ยวกับข้อมูลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ข่าวสารถึงผู้ปกครอง ภาพและคำอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดการสอนแบบมอนเตสซอรี่ และกิจกรรมต่างๆ ประจำปี ตารางกิจกรรมการเรียนรู้ บอร์ดตามเหตุการณ์และวันสำคัญ รายการอาหารประจำวัน

การจัดการเรียนรู้
             
หลักสูตรของการสอนแบบมอนเตสซอรี่ อยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่าการที่เด็กได้เรียนรู้ตามความสนใจ ความต้องการของตนเองและการซึมซับจากสิ่งแวดล้อมจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ตามต้องการ ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ได้จัดหลักสูตรพื้นฐานสำหรับเด็กไว้ 3 กลุ่ม (กองการศึกษา, 2548)
              1.   กิจกรรมในกลุ่มประสบการณ์ชีวิต มีวัตถุประสงค์ ในการฝึกเด็กให้มีระเบียบวินัย มีสมาธิ เป็นตัวของตัวเอง สามารถตัดสินใจเองได้ เรียนรู้กระบวนการในการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ – มัดเล็ก และกล้ามเนื้อมือ ฝึกตา-มือ ประสานสัมพันธ์ เป็นการปูพื้นฐานในการเรียนต่อไป
              2.   กิจกรรมในกลุ่มประสาทสัมผัส มีวัตถุประสงค์ในการฝึกประสาทสัมผัส อุปกรณ์ต่างๆ ในกลุ่มนี้ จะช่วยนำทางให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสให้สัมพันธ์กันได้อย่างเหมาะสม เด็กจะได้สำรวจเพื่อค้นหาและทำความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นเส้นทางการเรียนรู้โลกภายนอกทำให้สามารถมองเห็นได้กว้าง และไกลด้วยความเข้าใจยิ่งขึ้น
              3.   กิจกรรมในกลุ่มวิชาการ (คณิตศาสตร์ และภาษา) มีวัตถุประสงค์เพื่อปูพื้นฐานความรู้ให้แก่เด็กเกี่ยวกับจำนวน ตัวเลข การอ่าน และการเขียน โดยเด็กจะได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการอย่างเป็นขั้นตอน จากรูปธรรมสู่นามธรรม โดยใช้อุปกรณ์ของมอนเตสซอรี่เป็นสื่อ

กิจกรรมการเรียนรู้  ได้มีการจัดตารางกิจกรรมที่เด็กจะหมุนเวียนกันเข้าเรียนในแต่ละห้องเรียน วันละ 1 คาบๆ ละประมาณ 30 – 40 นาที โดยจัดเด็กเป็นกลุ่มสีต่างๆ และมีป้ายสีแขวนคอ

ตัวอย่าง  เช่น

จันทร์ กลุ่มสีแดง
ศิลปะ
กลุ่มสีเขียว
มอนเตสซอรี่
กลุ่มสีม่วง
วิทยาศาสตร์
อังคาร กลุ่มสีเขียว
มอนเตสซอรี่
กลุ่มสีม่วง
ภูมิศาสตร์
กลุ่มสีแดง
ประกอบอาหาร
พุธ กลุ่มสีแดง
พืชผักสวนครัว
กลุ่มสีเขียว
มอนเตสซอรี่
กลุ่มสีม่วง
วัฒนธรรมไทย
พฤหัสบดี กลุ่มสีแดง
พฤกษศาสตร์
กลุ่มสีม่วง
ประกอบอาหาร
กลุ่มสีเขียว
มอนเตสซอรี่
ศุกร์ กลุ่มสีแดง
คณิต ภาษา
กลุ่มสีเขียว
มอนเตสซอรี่
กลุ่มสีม่วง
ศิลปะ

ตารางกิจกรรมประจำวัน  มีการปรับเปลี่ยนไปตามการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละปีการศึกษา  ตัวอย่าง  เช่น

  08.40 – 08.50 น.   เตรียมตัวเข้าแถวเคารพธงชาติ  สวดมนต์
  08.50 – 09.00 น.   เข้าห้องน้ำ  ล้างมือ  ดื่มน้ำ
  09.00 – 09.30 น.   รวมกลุ่ม กิจกรรมวงกลม
  09.30 – 09.40 น.   รับประทานของว่างเช้า
  09.40 – 10.20 น.   เข้าห้องเรียนมอนเตสซอรี่
  10.20 – 10.50 น.   เข้าห้องวัฒนธรรมไทย
  10.50 – 11.10 น.   เข้าห้องวิทยาศาสตร์
  11.10 – 11.40 น.   เข้าห้องประกอบอาหาร ศิลปะ
  11.40 – 12.10 น.   หมุนเวียนรับประทานอาหาร
  12.10 – 12.20 น.   เข้าห้องน้ำ แปรงฟัน
  12.20 – 14.00 น.   นอนพักผ่อน
  14.00 – 14.30 น.   กิจกรรมเสริม
  14.30 – 16.00 น.   ผู้ปกครองรับกลับบ้าน

 

            นอกจากนี้ยังได้มีตารางกำหนดเกี่ยวกับการแต่งกาย โดยให้แต่งชุดพื้นเมือง 1 วัน/สัปดาห์สำหรับกิจกรรมมอนเตสซอรี่ ครูจะมีคู่มือการใช้อุปกรณ์มอนเตสซอรี่ที่จัดทำขึ้นเองเป็นแนวทางในการสาธิตขั้นตอนในการใช้อุปกรณ์ให้เด็กดู ก่อนที่เด็กจะลงมือปฏิบัติเองตามที่ทำให้ดู และทำเองอย่างอิสระต่อไป

การประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้
             
ครูในระบบนี้จะมีรายการบันทึกพฤติกรรมของเด็กทั้งในส่วนของพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ – อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ในแต่ละวันจะมีการบันทึกจากการสังเกตเด็กเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยครูที่รับผิดชอบในแต่ละห้อง แล้วนำข้อมูลมาสรุปเป็นข้อมูลของเด็กแต่ละคนเพื่อทำรายงานผลพัฒนาการและการเรียนรู้แจ้งผู้ปกครองด้วยวิธีการสื่อสารต่าง ๆ ต่อไป

การบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
             
ในการดำเนินงานของศูนย์  จะมีคณะกรรมการจากหลายฝ่ายทั้งในส่วนของคณะเทศมนตรี  กองการศึกษา และชุมชน โดยมีสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และโรงเรียนอนุบาลกรแก้วเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการศึกษา

โครงสร้างการบริหารศูนย์

              เมื่อได้ดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสอนของมอนเตสซอรี่ไปได้ระยะหนึ่งได้มีแบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครอง (37 คน) เกี่ยวกับการเรียนการสอนของศูนย์ฯ ที่นำไปสู่การปฏิบัติตนที่บ้านของเด็ก ผลเรียงตามลำดับความถี่สิ่งที่เด็กปฏิบัติได้มีดังนี้
              1)   การแต่งกายด้วยตนเอง
                    ใส่รองเท้า (36) ใส่ถุงเท้า (30) รูดซิบ (25) ติดกระดุม (24) คาดเข็มขัด (11)
              2)   การดูแลตนเอง
                    รับประทานอาหารได้เอง (37) เทน้ำ ดื่มนมได้เอง (35) เก็บของเล่น ของใช้ (34) อาบน้ำ ฟอกสบู่ (33) ทำความสะอาดตนเองได้หลังจากการเข้าส้วม (21) สระผม (14) ขัดรองเท้า (13)
              3)   การช่วยทำงานบ้าน
                    ล้างภาชนะ (17) กวาดบ้าน (17) ดูแลต้นไม้/สวน (16) ดูแลสัตว์เลี้ยง (14) ซักเสื้อผ้าพับจัดเก็บ (14) ถูบ้าน (10) ทำอาหาร (7) จัดโต๊ะอาหาร (7) เช็ดกระจก (2) จัดดอกไม้ (2)
              4)   ลักษณะนิสัย
                    แบ่งของให้คนอื่น (33) อาสาช่วยงาน (32) กล้าพูดกล้าแสดงออก (31) รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายจากทางโรงเรียน (31) รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายจากทางบ้าน (22) รู้จักรอโอกาสของตน เมื่อมีของต้องแบ่งปัน (20) ทำงานมีสมาธิ (19)

              นอกจากนี้จากการสอบถามครูที่สอนกิจกรรมมอนเตสซอรี่ที่ศูนย์ฯ เกี่ยวกับคุณลักษณะเด่นและด้อยของเด็กที่ได้รับการศึกษาจากการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ผลจากครูผู้ดูแลเด็กทั้งหมด (6 คน) พบว่า
              1)   คุณลักษณะเด่นของเด็ก คือ มีสมาธิในการทำงาน ตัดสินใจได้เอง เป็นตัวของตัวเองมีวินัยในตนเอง มีความกระตือรือร้นในการทำงาน สามารถช่วยเหลือตนเองได้ กล้าคิด กล้าทำ และกล้าแสดงออก และรู้จักการรอคอย
              2)   คุณลักษณะด้อยของเด็ก คือ เด็กบางคนมีปัญหาเรื่องการเขียนหนังสือ เมื่อเข้าศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 เนื่องจากการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้ ไม่ได้มีการเน้นในเรื่องการอ่าน การเขียน ทุกอย่างจะดำเนินการไปตามความพร้อมของเด็กที่สนใจและต้องการที่จะเรียนรู้
              ผลจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองและครูจากการสอบถาม และผลจากการสังเกตการเรียนของเด็กที่มีความสุขในบรรยากาศที่นำไปสู่ความสบายใจ ได้คิด ได้ทำงานต่างๆ ตามความสนใจในการทำกิจกรรมในทุกห้องเรียน เคารพเวลา เคารพเพื่อน เคารพงานที่ทำ สิ่งต่างๆ เหล่านี้น่าจะเป็นเครื่องชี้ได้ว่า การสอนแบบมอนเตสซอรี่ สามารถนำมาใช้ได้ดีสำหรับเด็กปฐมวัยในบริบทท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มสังคมเศรษฐกิจระดับใด

บทสรุป
             
ในปัจจุบัน จากความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการพัฒนาการศึกษาของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดทำให้การศึกษาของเทศบาลได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในระบบของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียน โดยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ให้บริการแก่สังคมในการให้ความรู้ การเป็นแหล่งศึกษาดูงานสำหรับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ
              บทเรียนจากการได้มีโอกาสร่วมพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ พบว่าการร่วมมือกันของสถาบันอุดมศึกษากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาการเรียนการสอนระดับต่างๆ อย่างเป็นระบบและติดตามอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งบุคลากรเข้าใจ และดำเนินการได้เองอย่างมั่นใจน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือร่วมใจกันในการปฏิรูปการศึกษาของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยดูแลการศึกษาปฐมวัยที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่สมองกำลังพัฒนาอย่างเต็มที่ให้แก่เด็กไทยของเราได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน อย่างผู้มีโอกาสที่ดี ได้รับในสิ่งที่ถูกต้องการร่วมมือกันอย่างจริงจังจากฐานของความต้องการของท้องถิ่น ชุมชน ผู้บริหาร และครู รวมถึงการมีความเข้าใจตรงกันของคนกลุ่มนี้และผู้เข้าไปช่วยพัฒนา คงจะช่วยให้ชาติเจริญรุ่งเรืองด้วยมีเยาวชนที่ได้รับการพัฒนามาอย่างดี ทำให้มีคนดีมารับใช้ชาติบ้านเมืองต่อไป

บรรณานุกรม
             
กองการศึกษา. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด. ร้อยเอ็ด : ทันใจการพิมพ์, 2548.
              จีระพันธุ์  พูลพัฒน์ และคำแก้ว  ไกรสรพงษ์. การจัดการศึกษาปฐมวัยตามแนวคิดของมอนเตสซอรี่ในบริบทของสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร : คณะครุศาสตร์, 2544. (อัดสำเนา)
              จีระพันธุ์  พูลพัฒน์ และคำแก้ว  ไกรสรพงษ์. การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยตามแนวคิดของมอนเตสซอรี่. กรุงเทพมหานคร : อัมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2543.

(บทความที่ 1 ชุดที่ 2)