เรื่อง การสอนแบบมอนเตสซอรี่

การสอนแบบมอนเตสซอรี่
(Montessori Method)

รศ.ดร.จีระพันธุ์  พูลพัฒน์  (พ.ศ. 2541)

              การสอนแบบมอนเตสซอรี่ เป็นการสอนรูปแบบหนึ่งที่เหมาะกับเด็ก ทั้งเด็กพิเศษ และเด็กปกติ Dr. Montessori เป็นผู้ริเริ่มจัดการเรียนการสอน สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Mentally Retarded Children) โดยใช้วิธีการคิดขึ้นเองจนประสบผลสำเร็จ และได้พัฒนาวิธีการสอนต่อมาจนสมบูรณ์แบบ เพื่อใช้เป็นวิธีสอนสำหรับเด็กโดยทั่วๆ ไป
              Dr. Maria Montessori (1870-1952) เป็นผู้หญิงคนแรกของอิตาลีที่ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต เมื่อจบการศึกษาแล้วได้มีโอกาสทำงานกับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ทำให้เกิดแนวคิดและเข้าใจถึงการเรียนรู้ของเด็กว่า ถ้าเด็กได้มีบางสิ่งบางอย่างที่จะจับต้อง และบิด-หมุนด้วยมือ สมองย่อมจะทำหน้าที่ตอบสนองได้ Dr. Montessori ได้ให้ความสนใจศึกษางานของ Edward Seguin ผู้ที่ริเริ่มในการพัฒนาระบบการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และงานของ Jean Itard ที่พัฒนาระบบการศึกษาสำหรับคนหูหนวก จากการศึกษางานของทั้งสองคนนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้ Dr. Montessori ศึกษาวิธีที่จะให้การศึกษาเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและทำได้สำเร็จ โดยได้ส่งเด็กอายุ 8 ขวบ ไปสอบรวมกับเด็กปกติในด้านการอ่านและการเขียน ปรากฏว่าเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญากลุ่มนี้ประสบความสำเร็จ โดยสามารถสอบผ่านไปได้อย่างดี จนได้รับการขนานนามว่า “สิ่งมหัศจรรย์ของมอนเตสซอรี่”
              ในปี ค.ศ. 1907 Dr. Montessori ได้เข้าไปรับผิดชอบโรงเรียนแห่งแรกที่ย่านสลัมของกรุงโรม ชื่อ Casa Dei Bambini (Children’s House) โรงเรียนนี้เองที่ทำให้ Dr. Montessori มีโอกาสนำเอาความคิดมาจัดให้การศึกษาเด็กอย่างจริงจัง ทำให้เกิดความเข้าใจในตัวเด็กและได้ปรับวิธีการสอนให้เกิดความสมบูรณ์แบบขึ้น
              ต่อมา Dr. Montessori ได้เผยแพร่ความคิดในด้านการจัดการเรียนการสอนนี้ โดยการเขียนหนังสือ จัดให้การอบรมแก่ผู้ที่สนใจวิธีการสอนนี้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยจัดขึ้นที่กรุงโรม และมีนักเรียนมาจากชาติต่างๆ ถึง 17 ชาติ นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปบรรยายทั่วโลก ตลอดจนช่วยในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมครู ในปัจจุบันได้มีโรงเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษาทั่วโลก นำเอาวิธีการสอนแบบมอนเตสซอรี่นี้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็ก และให้มีศูนย์ฝึกอบรมครูที่จะไปสอนโดยใช้วิธีการสอนนี้ตั้งขึ้นทั่วโลก เช่นกัน

ปรัชญาและหลักการของการสอนแบบมอนเตสซอรี่
           
  1.   เด็กจะต้องได้รับการยอมรับนับถือ เด็กจะต้องได้รับการยอมรับนับถือในสภาพที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ ต้องยอมรับนับถือเด็กในลักษณะเฉพาะของเด็กว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน  ควรจัดการศึกษาให้เด็กแต่ละคนตามความสามารถ และความต้องการตามธรรมชาติของเขาโดยการพัฒนาการสอนให้สัมพันธ์กับพัฒนาการความต้องการของเด็ก
              2.   เด็กมีจิตที่ซึมซาบได้ Dr. Montessori เชื่อว่ามนุษย์เรานี้เป็นผู้ให้การศึกษาแก่ตนเอง และเปรียบจิตของเด็กเหมือนกับฟองน้ำ ซึ่งจะซึมซาบข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม เด็กใช้จิตในการหาความรู้ ซึมซาบเอาสิ่งต่างๆ เข้าไปในจิตของตนเองได้ (The Absorbent Mind) กระบวนการนี้จะเห็นได้ชัดจากการที่เด็กสามารถเรียนภาษาแม่ได้เองโดยไม่ต้องมีการสอน อย่างเป็นทางการ
              3.   ช่วงเวลาหลักของชีวิต คือ ช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ในระยะแรก เป็นช่วงของการพัฒนาสติปัญญา และเด็กสามารถเรียนทักษะเฉพาะอย่างได้อย่างดี ครูจะต้องช่างสังเกต และใช้ประโยชน์จากช่วงเวลานี้ในการจัดการเรียนการสอนให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อเด็กจะได้มีโอกาสในการเลือกกิจกรรมของแต่ละบุคคล
              4.   การเตรียมสิ่งแวดล้อม Dr. Montessori เชื่อว่า เด็กเรียนได้ดีที่สุดในสภาพการจัดสิ่งแวดล้อมที่ได้ตระเตรียมเอาไว้อย่างมีจุดมุ่งหมาย การจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ เพื่อให้เด็กได้มีอิสระจากการควบคุมของผู้ใหญ่ เด็กจะได้ทำกิจกรรมต่างๆ ตามความคิดของตนเองบ้าง Dr. Montessori สนับสนุนการจัดห้องเรียนแบบเปิด (Open Classroom) เพื่อที่เด็กจะได้เลือกทำงานอย่างอิสระตามที่ตนเองต้องการ และเด็กจะเกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่เขาทำได้ การมีอิสระตามความคิดนี้ คือการมีอิสระภายในขอบเขตที่กำหนดให้
              5.   การศึกษาด้วยตนเอง เด็กสามารถเรียนได้ด้วยตนเองจากการที่เด็กมีอิสระในสิ่งแวดล้อมที่จัดเตรียมเอาไว้อย่างสมบูรณ์ การมีอิสระนี้ Dr. Montessori กล่าวว่าไม่ใช่สัญลักษณ์ของเสรีภาพเท่านั้น แต่หมายถึงเส้นทางไปสู่การศึกษา เด็กมีสิทธิในการที่จะเรียนรู้ระเบียบวินัยของชีวิต โดยการมีอิสรภาพในการทำงานด้วยตนเอง ได้มีโอกาสแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตนเองได้ และยังช่วยชี้ให้เห็นถึงความสามารถของมนุษย์ ในการที่จะศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง (Self or Auto-Education) ภายใต้สถานการณ์ที่กำหนดให้เรียนรู้ ซึ่งจะนำมาซึ่งความพึงพอใจในตนเองตลอดจนการให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ ต่อไปด้วย

การจัดชั้นเรียน การจัดห้องเรียน และสภาพการทำงานของเด็กในห้องเรียน
              การจัดชั้นเรียน  McMinn (1985, หน้า 2) ได้กล่าวถึงการจัดชั้นเรียนว่าเป็นการจัดระบบ ชั้นเรียนในลักษณะของการจัดกลุ่มอายุ โดยจัดเป็นช่วยอายุ ดังนี้
                   1.   ชั้นเด็กเล็ก (Infant Class) สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี
                   2.   ชั้นเด็กก่อนระดับประถมศึกษา (Preschool Class) สำหรับเด็กอายุ 2 ½ ถึง 6 ปี
                   3.   ชั้นประถมศึกษาตอนต้น (Junior Class) สำหรับเด็กอายุ 6 ถึง 9 ปี
                   4.   ชั้นเด็กประถมศึกษาตอนปลาย (Elementary Level) สำหรับเด็กอายุ 9 ถึง 12 ปี
                   5.   ชั้นมัธยมศึกษา (High School) สำหรับเด็กอายุ 12 ถึง 15 ปี
              การจัดให้ช่วงอายุห่างกัน 3 ปี ในแต่ละชั้นเรียน เพื่อที่จะทำให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในระหว่างเด็กอายุน้อยกว่าและมากกว่า และยังช่วยให้เด็กเล็กมีโอกาสที่จะได้รูปแบบที่ต้องการเลียนแบบได้ และเด็กโตมีโอกาสได้นำความรู้ที่เรียนไปแล้วมาช่วยเด็กที่เล็กกว่าได้
              ในชั้นเด็กเล็ก ควรจะมีเด็กประมาณ 10-12 คนต่อครู 1 คน และผู้ช่วย 1 คน แต่ชั้นเด็กก่อนวัยเรียน ควรมีเด็กประมาณ 25-35 คนต่อผู้ใหญ่ 2 คน
              การจัดห้องเรียน  ในห้องเรียนจะไม่มีโต๊ะ และเก้าอี้ครู เพราะว่าครูจะต้องเวียนไปรอบห้อง เพื่อสังเกตและทำงานร่วมกับเด็ก การจัดห้องมีลักษณะพิเศษเฉพาะบางส่วน คือ
                   1.   อุปกรณ์และชั้นวางของ จะต้องอยู่ในระดับสายตาของเด็ก เพื่อที่จะได้ง่ายสำหรับเด็กในการหยิบใช้
                   2.   จัดอุปกรณ์แยกออกเป็นหมวดหมู่และเพียงพอสำหรับเด็ก เพื่อที่จะได้ง่ายสำหรับเด็กในการหยิบใช้อุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่เร้าใจและน่าตื่นเต้น เพื่อพัฒนาความสนุกในการเรียน
                   3.   จัดสิ่งแวดล้อมอย่างมีจุดมุ่งหมายด้วยความรอบคอบ และพิถีพิถัน
              สภาพการทำงานของเด็กในห้องเรียน  โต๊ะ เก้าอี้ในห้องเรียนสามารถจัดเคลื่อนที่ได้ตามกิจกรรมต่างๆ เด็กสามารถทำงานบนเสื่อหรือพรมบนพื้นได้ด้วย ซึ่งเป็นสภาพธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความสบายใจ สภาพห้องเรียนแบบนี้จะได้ยินเสียงพึมพำของเด็กตลอดเวลา เพราะการใช้อุปกรณ์ต้องใช้การเคลื่อนที่หลายรูปแบบ เช่น เดิน แบก เท และพูด โดยเฉพาะการใช้มือ Dr. Montessori เน้นว่า มือคือครูที่สำคัญของเด็ก อุปกรณ์ในระบบการสอนนี้จะมุ่งในแง่ชวนให้เด็กใช้มือในการเรียนรู้ การทำกิจกรรมทุกอย่างของเด็กจะนำไปสู่การให้ความเคารพต่อครู ต่องานของคนอื่น และต่ออุปกรณ์ หรืองานของตนเอง Dr. Montessori ไม่เคยคิดว่าความดี คือความเงียบและการไม่เคลื่อนไหว และการมีวินัยในตนเอง ควรจะได้เรียนรู้ไปทีละน้อยด้วยการซึมซาบงานต่างๆ ที่มีความหมาย เมื่อเด็กสนใจในกิจกรรมบางอย่าง เด็กจะมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ถ้าเด็กมีพฤติกรรมที่ผิดไป เป็นหน้าที่ของครูที่จะช่วยให้เด็กหันมาสนใจในงานของตนเอง
              เด็กแต่ละคนทำงานกับวัสดุอุปกรณ์ของตนเอง จึงไม่มีการแข่งขันในห้องเรียนระดับนี้ เด็กเกี่ยวข้องสัมพันธ์เฉพาะงานที่ตนเองที่ผ่านไปแล้ว และความก้าวหน้าของเขาก็ไม่ได้นำไปเปรียบเทียบกับความสำเร็จของเด็กคนอื่น Dr. Montessori เชื่อว่าการแข่งขันในระบบการศึกษา ควรจะนำมาใช้ เมื่อเด็กมีความเชื่อมั่นในตนเองในการใช้ทักษะเบื้องต้น ไม่ควรจะทำให้เด็กเสี่ยงกับความล้มเหลว หรือผิดพลาดจนกว่าจะได้มีโอกาสพบกับความสำเร็จ (Wolf, 1980, หน้า 9)
              ครูของระบบการสอนแบบมอนเตสซอรี่  ครูของระบบการสอนนี้ เรียกว่าผู้นำทาง/ผู้อำนวยการ (director หรือ directress) จะต้องได้รับการฝึกฝนและอบรมเป็นพิเศษ เกี่ยวกับวิธีการสอน จากศูนย์ฝึกอบรมครูของระบบการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ที่ได้รับการรับรอง จากองค์การระดับชาติ เช่น American Montessori Society (AMS) หรือจากองค์การนานาชาติ ที่เรียกว่า American Montessori International (AMI) ผู้ที่จะเข้าอบรมได้ต้องจบปริญญาตรี หรือถ้าจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของศูนย์ ก่อนจึงจะเข้ารับการอบรมได้ หลักสูตรโดยทั่วๆ ไป จะเป็นการศึกษาหลักสูตรมอนเตสซอรี่เป็นเวลา 1 ปี และฝึกงานในโรงเรียนระบบการสอนแบบมอนเตสซอรี่
              บทบาทของครูในระบบนี้ จะมีบทบาทแตกต่างจากครูโดยทั่วๆ ไป โดยจะต้องเป็นบุคคลที่ช่างสังเกตในความสนใจของเด็กและความต้องการของเด็กแต่ละคน ครูจะเป็นเพียงผู้แนะนำและถือเด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียน การดำเนินงานของครูจะเกิดจากการสังเกตเด็กมากกว่าหลักสูตรที่จัดเตรียมเอาไว้แล้ว ครูจะสาธิตการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ถูกต้องให้เด็กดู แต่เด็กแต่ละคน เป็นคนเลือกวัสดุอุปกรณ์เหล่านั้น ครูจะต้องคอยดูพัฒนาการของเด็ก และบันทึกการทำงานของเด็กในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ บางครั้งครูจะต้องเปลี่ยนความสนใจของนักเรียน จากการเลือกอุปกรณ์ที่เกินความสามารถที่ตนจะทำได้ และในทำนองเดียวกันต้องคอยกระตุ้นเด็กที่ไม่ค่อยกล้า ครูในระบบนี้จะได้รับการฝึกให้รู้จักสังเกตระดับความพร้อมของเด็ก เมื่อเด็กทำผิด ครูจะให้เด็กค้นพบความผิดของตน โดยได้ปฏิบัติงานที่จะช่วยให้แก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง (Self-correcting material) กระบวนการนี้เป็นไปตามกฎของ Dr. Montessori ที่ว่า เด็กเกิดการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์
              กลุ่มกิจกรรมของการสอนแบบมอนเตสซอรี่  กลุ่มกิจกรรมแบ่งตามวัสดุอุปกรณ์ได้ 3 กลุ่ม การสอนกิจกรรมเหล่านี้ จะต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่เขียนบรรยายเอาไว้ในแผนการสอน รายละเอียดของกิจกรรมทั้ง 3 กลุ่ม มีดังนี้
              1.   กลุ่มประสบการณ์ชีวิต (Practical Life) จุดมุ่งหมายของกิจกรรมกลุ่มนี้ คือ การพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง สมาธิ การประสานสัมพันธ์ และระเบียบวินัยในตัวเด็ก กิจกรรมแบ่งออกเป็นแบบฝึกหัด 4 รูปแบบ คือ
                   (1)   การดูแลกิจส่วนตัว  คือ กิจกรรมประเภทที่ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เราจะพบเห็น อยู่ประจำ และเกี่ยวข้องกับตัวของเด็ก เช่น ชุดการแต่งกาย เกี่ยวกับการติดกระดุม รูดซิป การขัดรองเท้า ล้างมือ อาบน้ำตุ๊กตา เป็นต้น
                   (2)   การดูแลสิ่งแวดล้อม  คือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น การปัดฝุ่น เช็ดโต๊ะ เป็นต้น
                   (3)   ทักษะทางสังคม คือ กิจกรรมทางด้านสังคม การมีกิริยามารยาทที่เหมาะสม ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
                   (4)   การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย  คือ กิจกรรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกาย การเดิน การถือวัสดุอุปกรณ์ เช่น การเดินบนเส้นที่กำหนดให้ ฝึกความสมดุลของร่างกาย
                          เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในกลุ่มนี้ เป็นสิ่งที่นักเรียนได้พบเห็นและคุ้นเคย อยู่ในชีวิตประจำวัน เครื่องมือจะจัดให้มีขนาดเหมาะกับเด็ก เพื่อเด็กจะได้ใช้ได้คล่องตัว เนื่องจากเครื่องมือคล้ายกับสิ่งที่เด็กมีใช้ในบ้าน ทำให้เด็กมีความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน เมื่อเข้าสู่ห้องเรียน กลุ่มวิชานี้นับได้ว่าเป็นตัวเชื่อมโยงเด็กระหว่างบ้านและโรงเรียน
                          Dr. Montessori เชื่อว่าเมื่อเด็กทำกิจกรรมและมีสมาธิที่ดีแล้ว จะช่วยขยายช่วงเวลา ความสนใจของเด็กให้ยาวออกไปอีก ในห้องเรียนแบบมอนเตสซอรี่ มักจะเห็นเด็กอายุ 4 ขวบ หรือ 5 ขวบ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ในแต่ละครั้งในการขัดรองเท้าหรือเช็ดโต๊ะ
              2.   กลุ่มประสาทสัมผัส (Sensorial Materials) จุดมุ่งหมายของกิจกรรมนี้ เพื่อฝึกประสาทสัมผัสของเด็กให้จิตมุ่งไปที่คุณสมบัติของวัสดุที่ปรากฏเห็นเด่นชัด การฝึกให้รู้จักสังเกตรายละเอียดของสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการอ่าน Dr. Montessori เชื่อว่าเด็กควรจะได้มีความสามารถอย่างดีในการสังเกต และใช้ตามองแยกแยะความแตกต่างของสิ่งต่างๆ ได้ดีก่อนที่จะเรียนอ่านได้ นอกจากนี้กิจกรรมของกลุ่มนี้ยังช่วยเพิ่มความสามารถของเด็กในการคิดการเห็นความแตกต่าง จุดเด่น การวมกลุ่มและจัดระเบียบหรือลำดับได้ ตลอดจนช่วยเตรียมเด็กให้พร้อม เมื่อถึงช่วงเวลาที่เด็กจะเรียนการเขียนการอ่านได้ กิจกรรมกลุ่มนี้เป็นกิจกรรมเริ่มแรกของกระบวนการการเขียนการอ่าน
                     อุปกรณ์ที่ใช้ เป็นอุปกรณ์เพื่อสังเกตความแตกต่างด้วย หู ตา จมูก ลิ้น มือ โดยสังเกตความกว้าง ความยาว ความสูง ขนาด สี เสียง รส เป็นต้น อุปกรณ์ด้านนี้ เช่น หอคอยสีชมพู (Pink Tower) กล่องสังเกตเสียง (Sound Boxes) และทรงกระบอกมีจุก (Cylinder Blocks)
              3.   กลุ่มวิชาการ (Academic Materials) คือ กลุ่มกิจกรรมที่จัดอุปกรณ์สำหรับการเขียน การอ่าน และคณิตศาสตร์ กรสอนแบบมอนเตสซอรี่นี้แบบฝึกหัดจะจัดทำเป็นลำดับขั้น ซึ่งส่งเสริมการเรียน การเขียนก่อนการอ่าน Dr. Montessori เชื่อว่าเด็กส่วนมากจะพร้อมในการเรียนเขียน เมื่ออายุ 4 ขวบ โดยทั่วไปแล้วเด็กในห้องเรียนแบบมอนเตสซอรี่ที่มีอายุระหว่างอายุ 4 และ 5 ขวบ จะเขียนและอ่านได้ ตัวอย่าง อุปกรณ์ทางด้านการเขียนและการอ่าน เช่น กรอบรูปทรงทางเรขาคณิต (Mental Insets) ใช้ในการฝึกลีลามือในการเขียน ตัวอักษร พยัญชนะ สระ เคลื่อนที่ (Movable Alphabet) ใช้นำมาสร้างคำ อุปกรณ์ทางคณิตศาสตร์ เช่น บัตรตัวเลข กระดาษทราย (Sandpaper Numerals) และลูกปัดหลักเลข (Golden Beads) ที่จัดไว้สำหรับการเรียนเกี่ยวกับหลักเลข/ตำแหน่ง หน่วย สิบ ร้อย พัน
                     วิธีการสอนสามขั้นตอน (The Three-Period Lesson) เป็นวิธีการที่ใช้สำหรับสอนความคิดรวบยอดใหม่ด้วยการทำซ้ำ เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจในแบบฝึกหัดที่ครูสาธิตให้ดูได้ดีขึ้น การสอนนี้ยังช่วยให้ครูสังเกตเห็นว่าเด็กสามารถเข้าใจและซึมซาบสิ่งที่สาธิตให้เด็กดูได้ว่องไวแค่ไหน วิธีการสอนสามขั้นตอนนี้ใช้กับการสาธิตขั้นต้นของคณิตศาสตร์และภาษา เมื่อเด็กไม่เข้าใจขั้นตอนหนึ่งจะต้องเริ่มต้นสาธิตให้ดูใหม่ ครูต้องแน่ใจว่าเด็กเข้าใจในสิ่งที่ทำให้ดูแล้วจึงจะดำเนินการขั้นต่อไป วิธีการสอนสามขั้นตอนดังกล่าว Hainstock (1978, หน้า 7 และ 8) อธิบายไว้ ดังนี้
                     ขั้นแรก   สังเกตเห็นลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น (Recognition of Identity) ทำให้เชื่อมโยงที่ครูสาธิตให้ดูกับชื่อของสิ่งนั้นได้ “นี่คือ…”
                     ขั้นสอง   สังเกตเห็นความแตกต่าง (Recognition of Contrasts) มั่นใจว่าเด็กเข้าใจเมื่อบอกเด็กว่า “หยิบ…”
                     ขั้นสาม   เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งของที่มีความเหมือนกัน (Discrimination Between Similar Objects) ขั้นตอนเพื่อที่จะได้ทราบว่าเด็กจำชื่อสิ่งต่างๆ ที่ครูสาธิตให้ดูได้หรือเปล่า เช่น ชี้ที่ของหลายๆ สิ่งแล้วถามว่า “อันไหนคือ…”
                     การวัดและประเมินผล  การสอนแบบมอนเตสซอรี่ วัดและประเมินผลโดยการสังเกตความสามารถในการทำกิจกรรมของเด็กในแต่ละกลุ่มกิจกรรม สิ่งที่โรงเรียนส่วนใหญ่ทำในการรายงานผลการเรียนของนักเรียน คือ ทุกวันศุกร์ส่งผลงานของนักเรียนกลับบ้านกำหนดช่วงเวลาที่จะให้ผู้ปกครองมาสังเกตการเรียนการสอนของโรงเรียน และมีการสนทนา  ระหว่างครูและผู้ปกครองเกี่ยวกับความสามารถของเด็ก นอกจากนี้มีแบบการวัดและประเมินผล ความสามารถในการทำกิจกรรมของนักเรียนรายงานให้ผู้ปกครองทราบอีกครั้ง แบบการวัด และประเมินผลจัดทำเป็นรูปรายการของกิจกรรมในแต่ละกลุ่ม และมีการลงบันทึกกิจกรรม และแบบฝึกหัดที่เด็กทำได้แล้ว ประกอบกับความเห็นของครูตอนท้ายของแต่ละกลุ่มกิจกรรม 

ตัวอย่างรายการของการวัดและประเมินผลนักเรียนอายุ 2 ½ ถึง 5 ขวบ
              1.   กลุ่มประสบการณ์ชีวิต
                   (1)   การดูแลกิจส่วนตน
                            ชุดการแต่งกาย
                                          ติดกระดุม               ……………
                                          รูดซิป                     ……………
                            ติดตะขอ                               ……………
                            ผูกโบ                                   ……………
                            คาดเข็มขัด                           ……………
                                          ฯลฯ
                   (2)   การดูแลสิ่งแวดล้อม
                       
    การเท                – น้ำ                     ……………
                            การจัดกลุ่ม         – รูปร่าง                ……………
                                                     – สี                       ……………
                            การกวาด            – ไม้กวาด            ……………
                                                     – ที่ช้อนผง           ……………
                                                        ฯลฯ
                   (3)   ทักษะทางสังคม
                       
    กิริยามารยาท    – ขอบคุณ              ……………
                            การจัดกลุ่ม        – ขอโทษ              ……………
                            การเก็บเก้าอี้เข้าไว้ใต้โต๊ะ               ……………
                                                        ฯลฯ
                   (4)   การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
                   
        การเดินบนเส้นที่กำหนด              …………..
                            การเดินช้า                                   ……………
                            การกระโดด                                 ……………
                            การเดินแบบชนเท้า                     ……………
                                                        ฯลฯ
              2.   กลุ่มประสาทสัมผัส
                   
        ทรงกระบอกมีจุก           ชุดที่ 1            ……………
                                                               ชุดที่ 2            ……………
                                                               ชุดที่ 3            ……………
                                                               ชุดที่ 4            ……………
                                                               ฯลฯ
              3.   กลุ่มวิชาการ
                            การเตรียมความพร้อมในการเรียน
             
              บัตรตัวอักษรกระดาษทราย
                                                        การเขียนตามรอย         ……………
                                                        การอ่านตัวอักษร          ……………
                                                        ฯลฯ
                            คณิตศาสตร์
                            บัตรตัวเลขกระดาษทราย
                            การเขียนตามรอย              1…………2…………3…………4…………5…………
                                                                  6…………7…………8…………9…………
                            การอ่านตัวเลข                  1…………2…………3…………4…………5…………
                                                                  6…………7…………8…………9…………
                                                        ฯลฯ

ข้อดีของการสอนแบบมอนเตสซอรี่
              1.   การจัดกลุ่มแบบมีเด็กหลายอายุรวมกลุ่มกันดีในแง่ของสังคม ให้นักเรียนที่มีความ แตกต่างกันเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน ให้ความช่วยเหลือกัน เด็กที่อายุมากกว่าช่วยดูแลหรือสาธิตงานให้แก่เด็กที่อายุน้อยกว่า
              2.   การทำกิจกรรมของเด็ก เป็นงานที่เด็กทำเสร็จด้วยตนเอง ไม่มีการเปรียบเทียบหรือแข่งขันกับบุคคลอื่น เด็กที่ช้าก็จะใช้เวลานานในการทำกิจกรรมชิ้นเดิมต่อไปโดยไม่รบกวนสมาชิก คนอื่นๆ ในชั้นเรียน เด็กที่เรียนไวในห้องเดียวกันจะสามารถทำงานระดับที่ยากขึ้นไปได้เรื่อยๆ ด้วยความรวดเร็ว โดยไม่ต้องเกิดความเบื่อหน่ายในการที่จะต้องรอเพื่อนคนอื่นในชั้น เด็กที่มีความสามารถระดับสูงจะรู้สึกว่าได้รับการท้าทายจากการที่มีวัสดุอุปกรณ์มากมายหลายชนิด ให้ทำกิจกรรม

ข้อเสียของการสอนแบบมอนเตสซอรี่
             สำหรับข้อเสีย ได้มีคำวิจารณ์เกี่ยวกับวิธีการสาธิตการสอนของครู แล้วให้เด็กทำตาม/ทำซ้ำ จนเด็กทำได้ เป็นการทำให้เด็กขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
              ประสบการณ์ในการสอนแบบมอนเตสซอรี่ เป็นเวลา 4 ปี คิดว่า คำวิจารณ์น่าจะเป็นการเข้าใจผิด เพราะจริงๆ แล้ว อุปกรณ์ของการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ช่วยเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ตัวอย่าง เช่น กล่องรูปสามเหลี่ยมขนาดต่างๆ (Triangle Boxes) ภายในกล่องจะมี รูปสามเหลี่ยมหลายขนาดและหลายสี การนำมาสร้างรูปสามเหลี่ยมได้ด้วยการสังเกตเส้นดำบนรูปสามเหลี่ยมนั้น เมื่อนำเส้นดำของรูปสามเหลี่ยมสีเดียวกันมาประสานกันจะได้รูปสามเหลี่ยม  รูปใหญ่สีเดียวกัน เป็น 3 รูปด้วยกัน เมื่อครูสาธิตวิธีการให้เด็กดูเด็กได้ลองทำและทำได้แล้ว เด็กจะนำรูปสามเหลี่ยมเหล่านี้มาทำเป็นรูปต่างๆ นอกเหนือไปจากรูปทรงสามเหลี่ยมตามปกติ เช่น ทำเป็น  รูปยานอวกาศ เรือรบ เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็ก
              การสอนแบบมอนเตสซอรี่ เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนให้แก่เด็ก โดยเน้นการเกิดขึ้นอย่างธรรมชาติและสนุกสนาน ในโอกาสที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละคน Dr. Montessori กล่าวว่า ความเป็นจริงที่เราไม่สามารถสร้างอัจฉริยะ สิ่งที่เราทำได้ไม่เพียงแต่ให้เด็กมีโอกาสพัฒนาสติปัญญาเต็มที่เท่านั้น แต่เด็กจะได้มีความเป็นตัวของตัวเอง ความมั่นคง และความสมดุลในการเป็นมนุษย์ (Wolf, 1980, หน้า 10)

รายการอ้างอิง
              Chisamore, J. Dodson, K., and Edwards, E., Language: A Montessori Teaching Manual, Southwestern Montessori Training Center, Inc., Spring, 1981.
              McMinn, J.R., “A Look at Montessori,” Texas Child Care Quarterly, Winter, 1985, pp. 10-17.
              Hainstock, E.G., Teaching Montessori in the Home, New York: The American Library Inc., 1978.
              Montessori, M. Dr. Montessori’s Own Handbook, New York: Schocken Book Inc., 1965.
              Montessori, M. The Absorbent Mind, New York: Dell Publishing Co., Inc., 1984.
              Montessori, M. The Discovery of the Child, New York: Ballantine Books, 1981.
              Montessori, M. The Montessori Method, New York: Schocken Books Inc., 1964.
              Montessori, M. The Secret of Childhood, New York: Ballantine Books, 1983.
              Morrison, G.S., “Maria Montessori: The Start of It All,” Early Childhood Education Today, Ohio: Bell & Howell Company, 1984, pp. 64-95.
              Wolf, A.D., A Parents’ Guide to the Montessori Classroom, Altoona, Pennsylvania: Parent Child Press, 1980.
              เกณฑ์การวัดผลแปลมาจากเกณฑ์การวัดผลของ The Selwyn School, Denton, Texas

(บทความที่ 1 ชุดที่ 2)